ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: บุญเหลือ ชาญณรงค์, เบญจวรรณ สามสาลี, ศิริอร ฤทธิ์ไตรรัตน์, สำราญ บุญรักษา

ชื่อเรื่อง/Title: ผลของการใช้โปรแกรมกลุ่มบำบัดเพื่อความปลอดภัยของสังคมต่อความพร้อมในการออกไปอยู่ในสังคมของผู้ป่วยนิติจิตเวช

แหล่งที่มา/Source: เอกสารการวิจัย พ.ศ. 2540

รายละเอียด / Details:

การวิจัยกึ่งทดสอบครั้งนี้เป็นการศึกษาผลของโปรแกรมกลุ่มบำบัดเพื่อความปลอดภัยของสังคมต่อความพร้อมในการออกไปอยู่ในสังคมของผู้ป่วยนิติจิตเวช กลุ่มตัวอย่างคือผู้ป่วยนิติจิตเวชที่ศาลส่งมารักษาจนกว่าจะปลอดภัยต่อสังคมที่รับไว้เป็นผู้ป่วยในของโรงพยาบาลนิติจิตเวช จำนวน 10 คน ซึ่งคัดเลือกแบบเจาะจง เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วยโปรแกรมกลุ่มบำบัดเพื่อความปลอดภัยของสังคม และแบบวัดความพร้อมในการออกไปอยู่ในสังคม ซึ่งผู้วิจัยสร้างขึ้น โดยแบบวัดความพร้อมในการออกไปอยู่ในสังคม ค่าความเชื่อมั่น = 0.86 การรวบรวมข้อมูลกระทำ 2 ครั้ง คือ ระยะก่อนและหลังจากสิ้นสุดกลุ่มบำบัดเพื่อความปลอดภัยของสังคม กลุ่มตัวอย่างได้เข้าร่วมโปรแกรมกลุ่มบำบัด ซึ่งมีลักษณะเป็นกลุ่มปิด พบกัน 6 สัปดาห์ ๆ ละ 2 ครั้ง ๆ ละ 1 ชั่วโมง 30 นาที วิเคราะห์ ปัจจัยบำบัดตามแนวคิดของยาลอม (Yalom, 1975) วิเคราะห์ความแตกต่างของค่าเฉลี่ยคะแนนความพร้อมในการออกไปอยู่ในสังคมก่อนและหลังเข้ากลุ่มโดยใช้สถิติ dependent t-test. ผลการวิจัยที่พบว่า ปัจจัยบำบัดเกิดขึ้นทุกครั้งในการทำกลุ่มบำบัด โดยปัจจัยบำบัดที่เกิดขึ้นมากที่สุดคือ ด้านการระบายออก เกิดขึ้นจำนวน 9 ครั้ง รองลงมาคือ ด้านการมีความหวัง และด้านการเข้าใจตนเองเกิดขึ้นด้านละจำนวน 8 ครั้ง ส่วนปัจจัยบำบัดที่เกิดน้อยที่สุด คือ ด้านการมีความเป็นสากล การเลียนแบบ การสะท้อนถึงภาพในครอบครัว และการรับรู้ความจริงของชีวิตเกิดขึ้นด้านละจำนวน 3 ครั้ง สำหรับ ค่าเฉลี่ยของคะแนนความพร้อมในการออกไปอยู่ในสังคมของกลุ่มตัวอย่างก่อนและหลังได้รับโปรแกรมกลุ่มบำบัดเพื่อความปลอดภัยของสังคม แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .001 โดยคะแนนความพร้อมในการออกไปอยู่ในสังคมโดยส่วนรวมหลังเข้ากลุ่มสูงกว่าก่อนเข้ากลุ่ม ส่วนค่าเฉลี่ยของคะแนนความพร้อมในการออกไปอยู่ในสังคมของกลุ่มตัวอย่าง ระยะก่อนและหลังได้รับโปรแกรมกลุ่มบำบัดเพื่อความปลอดภัยของสังคมด้านการใช้เวลาอย่างมีประสิทธิภาพ ด้านการพัฒนาและดำรงรักษาระบบสนับสนุนทางสังคม ด้านการปฏิบัติกิจกรรมทางศาสนา ด้านการพัฒนาการรู้จักตนเอง มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 ด้านการติดต่อสื่อสารที่มีประสิทธิภาพมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 โดยส่วนรวมหลังเข้ากลุ่มสูงกว่าก่อนเข้ากลุ่ม ส่วนด้านการเผชิญปัญหาไม่มีความแตกต่างกัน

Keywords: forensic, forensic psychiatry, group, psychiatry, social, กลุ่ม, จิตเวช, จิตเวชศาสตร์, นิติจิตเวช, สังคม

ปีที่เผยแพร่/Year: 2540

Address: โรงพยาบาลนิติจิตเวช กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

Code: 301400000013

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: นิพนธ์ต้นฉบับ

Download: -