ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: วิไลรัตน์ คุ้มประยูร, ประไพศรี บูรณางกูร, ศิริรัตน์ ทำสะดวก, กังสดาล อู่วิเชียร, ขนิษฐา ใหม่คามิ, นพรัตน์ ช่างกล

ชื่อเรื่อง/Title: บริการของแผนกผู้ป่วยในโรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาตามทัศนะของผู้มารับบริการ

แหล่งที่มา/Source: เอกสารการวิจัย,พ.ศ. 2534

รายละเอียด / Details:

วัตถุประสงค์ (1) หาข้อมูลพื้นฐานของญาติผู้ป่วยที่มารับบริการในแผนกผู้ป่วยใน เช่น เพศ อายุ การศึกษา รายได้ (2) ศึกษาทัศนะของญาติผู้ป่วยต่อบริการที่ได้รับจากพยาบาลในแผนกผู้ป่วยใน (3) ศึกษาทัศนะของญาติผู้ป่วยต่อกิจกรรมการพยาบาลในแผนกผู้ป่วยใน (4) ศึกษาทัศนะของญาติผู้ป่วยต่อสถานที่ในแผนกผู้ป่วยใน (5) ศึกษาทัศนะของญาติผู้ป่วยต่อบริการด้านอื่น ๆ วิธีการวิจัย เป็นการวิจัยเชิงพรรณนา (Descriptive Research) กลุ่มตัวอย่าง คือ ญาติของผู้ป่วยในที่มารับบริการในแผนกผู้ป่วยใน อายุ 15 ปีขึ้นไป ไม่จำกัดเพศ อาชีพ การศึกษา รายได้ ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลตั้งแต่ 2 ครั้งขึ้นไป มีภูมิลำเนาอยู่ใน 4 จังหวัด คือ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ชัยภูมิ และขณะที่ผู้ป่วยกำลังรักษาอยู่ในแผนกผู้ป่วยใน จะต้องมาติดต่อกับแผนกผู้ป่วยในอย่างน้อย 2 ครั้ง สุ่มตัวอย่างเป็นแบบเจาะจง (Purposive Random Sampling) จำนวน 100 คน จากญาติที่มาเยี่ยมผู้ป่วยตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคม 2533 ถึงวันที่ 10 กรกฎาคม 2534 เครื่องมือที่ใช้รวบรวมข้อมูลคือ แบบสอบถามซึ่งผู้วิจัยสร้างขึ้นแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนที่ 1 แบบสอบถามข้อมูลส่วนตัวของญาติผู้ป่วย ส่วนที่ 2 แบบวัดทัศนะต่อบริการของแผนกผู้ป่วยใน โรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมา สร้างโดยอาศัยความรู้ที่ได้จากการทบทวนวรรณกรรมและงานวิจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องโดยใช้แบบประมาณค่า (Rating Scales) ผลการวิจัย พบว่าความสัมพันธ์ของกลุ่มตัวอย่างกับผู้ป่วย เกี่ยวข้องกับบิดา-มารดา เป็นส่วนใหญ่ ร้อยละ 35 มีอายุในช่วง 45 ปีขึ้นไป สถานภาพสมรสคู่ ร้อยละ 84 เป็นเพศหญิงร้อยละ 53 การศึกษาอยู่ในระดับ ป.1 - ป.4 ถึงร้อยละ 77 ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นส่วนใหญ่ ร้อยละ 49 รายได้ครอบครัวเฉลี่ยต่อเดือนต่ำกว่า 1,000 บาท ร้อยละ 49 มีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดนครราชสีมา ร้อยละ 73 ทัศนะของญาติด้านบริการที่ได้รับจากพยาบาลอยู่ในระดับดีโดยมีทัศนะดีสูงสุดที่พยาบาลให้คำแนะนำเกี่ยวกับการมาติดต่อรับบริการที่โรงพยาบาล มีค่าเฉลี่ย 4.47 ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน 0.75 การมีทัศนะต่อกิจกรรมพยาบาล พบว่าผู้มารับบริการสามารถเยี่ยมผู้ป่วยได้สะดวกที่สุด มีค่าเฉลี่ย 4.43 ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน 0.75 ทัศนะต่ำสุดได้แก่จากการซักถามผู้ป่วยทราบว่า ผู้ป่วยแอบทิ้งยาขณะอยู่โรงพยาบาล มีค่าเฉลี่ย 2.50 ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน 1.55 ทัศนะต่อสถานที่ พบว่าบรรยากาศทั่วไปของตึกสวยงามร่มรื่น เหมาะสำหรับผู้ป่วยทางด้านจิตใจ มีค่าเฉลี่ย 4.35 ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน 0.83 ส่วนทัศนะต่ำสุดได้แก่ ภายในตึกมีกลิ่นเหม็น มีค่าเฉลี่ย 2.14 ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน 1.39 ทัศนะต่อบริการอื่น ๆ พบว่ามีทัศนะอยู่ในระดับดี เฉลี่ยคะแนนค่อนไปทางสูงเกือบทุกด้าน ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน 0.83 มีทัศนะต่ำสุดได้แก่การฝึกงานอาชีพของผู้ป่วย เช่น ทอผ้า ทอเสื่อ เกษตรกรรม ฯลฯ สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน มีค่าเฉลี่ย 2.50 ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน 1.55 ข้อเสนอแนะ 1. เนื่องจากญาติผู้ป่วยมีทัศนะดีเกี่ยวกับการเอ็กซเรย์เพื่อช่วยในการหาพยาธิสภาพของโรคสูงที่สุด และมีทัศนะปานกลางเกี่ยวกับการรักษาด้วยการช็อคด้วยไฟฟ้า เป็นอันตรายและยังไม่เห็นความสำคัญของอาชีวบำบัด ดังนั้นจึงควรเน้นให้มีการให้สุขศึกษาในเรื่องนี้เพิ่มขึ้น 2. จากกลุ่มตัวอย่างที่ศึกษาพบว่า มีระดับการศึกษาชั้นประถมปีที่ 4 ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งกลุ่มนี้อาจจะมีความคาดหวังต่อบริการในระดับที่ไม่สูงนัก ผลที่ได้จึงออกมาในลักษณะที่มีทัศนะดีเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้น จึงควรมีการศึกษาในกลุ่มอื่น ๆ เพื่อกระจายให้มีสถานภาพทางสังคมเท่า ๆ กัน เช่น ทุกระดับการศึกษา ทุกระดับอาชีพ ในจำนวนเท่า ๆ กัน

Keywords: psychiatry, service, จิตเวช, จิตเวชศาสตร์, ญาติ, บริการ, ผู้ป่วยใน

ปีที่เผยแพร่/Year: 2534

Address: โรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมา กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

Code: 302340000011

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: นิพนธ์ต้นฉบับ

Download: -