ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: นงเยาว์ พูลศิริ, พิมพาภรณ์ สังข์รัศมี, วิรัช ลักคนสุวรรณ์, ชะโลม สรรพสุ, สุวิมล ปริญญานุสรณ์, กมล ศิริพิชัยพร

ชื่อเรื่อง/Title: การศึกษาปัญหาการรับประทานยาของผู้ป่วยจิตเภทในโรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมา

แหล่งที่มา/Source: เอกสารการวิจัย,พ.ศ. 2535

รายละเอียด / Details:

วัตถุประสงค์ (1) เพื่อทราบถึงปัจจัยที่เป็นปัญหาในการรับประทานยาของผู้ป่วยจิตเภท (2) เพื่อเป็นแนวทางในการรักษาผู้ป่วยจิตเภทด้วยยาให้ได้ผลดีที่สุด วิธีการวิจัย (1) สร้างแบบสอบถามขึ้นมาเป็นเครื่องมือจากการศึกษาเอกสารตำราที่เกี่ยวข้องและจากผู้มีประสบการณ์ในการให้บริการผู้ป่วย (2) หาความแม่นตรงของเนื้อหาแบบสอบถามโดยวิธี Pre-test (3) เลือกกลุ่มตัวอย่างโดยวิธีการสุ่มกระจายแบบง่ายและแบบเจาะจง (4) ดำเนินการเก็บข้อมูลโดยการให้กรอกแบบสอบถามและสัมภาษณ์ (5) นำแบบสอบถามมาตรวจและแจกแจงหาความถี่ (6) วิเคราะห์ข้อมูลด้วยวิธีทางสถิติกลุ่มตัวอย่าง คือ ผู้ป่วยจิตเภทที่เคยมารับการรักษาแบบผู้ป่วยนอก ไม่ว่าจะเคยเป็นผู้ป่วยใน ด้วยหรือไม่เคยก็ได้ จำนวน 113 ราย รวมทั้งญาติหรือผู้ดูแลผู้ป่วยดังกล่าวอีก จำนวน 113 ราย เช่นเดียวกัน เครื่องมือที่ใช้รวบรวมข้อมูล คือ แบบสอบถาม - ที่สร้างขึ้นมาประกอบด้วยข้อมูล 3 ส่วน คือ (1) จากแฟ้มประวัติผู้ป่วย (2) จากผู้ป่วย (3) จากญาติผู้ป่วย ผลการวิจัย พบว่า ปัญหาที่สำคัญในการรับประทานยา คือ ผู้ป่วยรับประทานยาไม่สม่ำเสมอ คิดเป็นร้อยละ 54 โดยมีสาเหตุหลักดังนี้ (1) ผู้ป่วยและญาติไม่เข้าใจถึงความสำคัญของยาต่อการรักษาโรคจิตเภท รวมทั้งไม่เข้าใจถึงเวลาแต่ละมื้อ และระยะเวลาที่จะต้องรับประทาน (2) ผู้ป่วยเกิดความเบื่อหน่ายต่อการรับประทานยา และญาติเองก็เบื่อหน่ายในการดูแลผู้ป่วย (3) ผู้ป่วยและญาติมีฐานะยากจน มีทั้งปัญหาด้านเศรษฐกิจ สังคม และความสะดวกในการมารับบริการ ข้อเสนอแนะ ในการแก้ปัญหารับประทานยาของผู้ป่วยจิตเภท (1) ให้ความรู้เกี่ยวกับยารักษาโรคจิตแก่ผู้ป่วยและญาติ (2) เตรียมผู้ป่วยขณะที่ยังรับการรักษาอยู่ในโรงพยาบาลฝึกหัดให้มีการดูแลตนเองโดยเฉพาะเรื่องการรับประทานยา (3) เตรียมผู้ดูแล โดยการชี้แจงให้เห็นความสำคัญของการรับประทานยา และความรู้เกี่ยวกับยา (4) ผู้รักษาปรับวิธีการรักษาผู้ป่วยให้เหมาะสมกับผู้ป่วยเพื่อให้สามารถใช้ชีวิต ดำเนินกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้ใกล้เคียงคนปกติ (5) แก้ไขปัญหาอุปสรรคและลดภาระในการดูแลผู้ป่วย ที่มีปัญหาด้านเศรษฐกิจ สังคม และความสะดวกในการมารับบริการอาจจะโดยการ (5.1) ช่วยให้ผู้ป่วยมีรายได้ของตนเอง (5.2) พยายามให้ผู้ป่วยหรือญาติใช้บริการทางสาธารณสุขที่มีอยู่ในชุมชนให้มากขึ้นหรือการใช้บริการทางไปรษณีย์ เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางอันเป็นอุปสรรคในการมารับยาที่โรงพยาบาลฯ

Keywords: drug, pharmacy, psychiatry, psychosis, psychotic, schizophrenia, จิตเภท, จิตเวช, จิตเวชศาสตร์, เภสัชกรรม, ยา, โรคจิต, โรคจิตเภท

ปีที่เผยแพร่/Year: 2535

Address: โรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมา กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

Code: 302350000010

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: นิพนธ์ต้นฉบับ

Download: -