ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: บุญชัย นวมงคลวัฒนา

ชื่อเรื่อง/Title: การศึกษาปัญหาทางด้านจิตใจของผู้ป่วยโรคลมชัก

แหล่งที่มา/Source: เอกสารการวิจัย,พ.ศ. 2539

รายละเอียด / Details:

การวิจัยครั้งนี้เป็นการศึกษาถึงปัญหาทางด้านจิตใจของผู้ป่วยโรคลมชัก ซึ่งมารับบริการที่โรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ หาอัตราความชุกของปัญหาทางด้านจิตใจของผู้ป่วยโรคลมชัก ศึกษาปัญหาทางด้านจิตใจของผู้ป่วยโรคลมชักเปรียบเทียบกับเกณฑ์ปกติ ศึกษาข้อมูลเบื้องต้นของผู้ป่วยโรคลมชัก ศึกษาข้อมูลเบื้องต้นกับปัญหาทางด้านจิตใจของผู้ป่วยโรคลมชักศึกษาปัญหาทางด้านจิตใจของผู้ป่วยโรคลมชักที่ยังมีและไม่มีอาการชัก และศึกษาความสัมพันธ์ของปัญหาทางด้านจิตใจในกลุ่มอาการต่าง ๆ ของผู้ป่วยโรคลมชักกลุ่มตัวอย่าง ที่ศึกษาเป็นผู้ป่วยโรคลมชัก ซึ่งมารับบริการที่โรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาระหว่างเดือน พฤศจิกายน 2538 - มีนาคม 2539 จำนวน 100 คน เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาเป็นแบบสัมภาษณ์ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น และแบบทดสอบ SCL-90 (Symptom Distress Check List-90) การวิเคราะห์ข้อมูลใช้โปรแกรมสำเร็จรูป EPI INFO เวอร์ชั่น 5 และ 6 โดยใช้ค่าสถิติร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน การทดสอบค่าที (t-test) ANOVA ค่าไคสแควร์ และค่าสหสัมพันธ์ ( r ) สรุปผลการวิจัยได้ ดังนี้ 1. ข้อมูลเบื้องต้นของผู้ป่วยโรคลมชัก พบว่า ผู้ป่วยที่เป็นกลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยเพศหญิงและผู้ป่วยเพศชายในจำนวนใกล้เคียงกัน คิดเป็นร้อยละ 51.00 และ 49.00 ตามลำดับ ผู้ป่วยร้อยละ 65.00 มีอายุระหว่าง 21-40 ปี และร้อยละ 81.00 จบการศึกษาระดับประถมศึกษา ผู้ป่วยมีสถานภาพสมรสโสด และคู่ในจำนวนใกล้เคียงกัน คิดเป็นร้อยละ 46.00 และ 45.00 ตามลำดับ ร้อยละ 67.00 ของผู้ป่วยมีอาชีพเกษตรกรรม และรับจ้างส่วนรายได้ร้อยละ 58.00 มีรายได้ต่ำกว่า 3,000 บาท/เดือน สำหรับระยะเวลาเจ็บป่วยด้วยโรคลมชักผู้ป่วยร้อยละ 39.00 และ 35.00 ป่วยมาเป็นระยะเวลา 1-10 ปี และใช้ยา Phenobarb ในการรักษาโรคลมชัก 2. อัตราความชุกของปัญหาทางด้านจิตใจของผู้ป่วยโรคลมชัก 2.1 อัตราความชุกของปัญหาทางด้านจิตใจของผู้ป่วยโรคลมชักในกลุ่มอาการ Somatization, Depression, Phobic Anxiety, Psychoticism, Obsessive Compulsive, Interpersonal Sensitivity, Hostility, Paranoid Ideation และ Anxiety มีอัตราความชุก คือ 0.41, 0.31, 0.31, 0.23, 0.19, 0.17, และ 0.09 ตามลำดับ 2.2 อัตราความชุกของปัญหาทางด้านจิตใจของผู้ป่วยโรคลมชัก มีอัตราความชุก เท่ากับ 0.57 3. ปัญหาทางด้านจิตใจของผู้ป่วยโรคลมชักมีความแตกต่างกับเกณฑ์ปกติ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 ในกลุ่มอาการ Somatization, Obsessive-Compulsive และ Psychoticism และที่ระดับ .05 ในกลุ่มอาการ Depression โดยคะแนนปัญหาทางด้านจิตใจของผู้ป่วยโรคลมชักสูงกว่าคะแนนของเกณฑ์ปกติ 4. ข้อมูลเบื้องต้นกับปัญหาทางด้านจิตใจของผู้ป่วยโรคลมชัก 4.1 ปัญหาทางด้านจิตใจของผู้ป่วยโรคลมชัก ไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติตามเพศ อายุ สถานภาพสมรส อาชีพและความถี่ของการชัก 4.2 ปัญหาทางด้านจิตใจของผู้ป่วยโรคลมชักมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 และ .05 ตามระดับการศึกษาและรายได้ 4.3 ระยะเวลาเจ็บป่วยของผู้ป่วยโรคลมชัก ไม่มีความสัมพันธ์กับความถี่ของการชักอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .045 5. ปัญหาทางด้านจิตใจของผู้ป่วยโรคลมชักที่ยังมีและไม่มีอาการชักไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ 6. ความสัมพันธ์ของปัญหาทางด้านจิตใจของผู้ป่วยโรคลมชักในกลุ่มอาการต่าง ๆ 6.1 ปัญหาทางด้านจิตใจของผู้ป่วยโรคลมชักในกลุ่มอาการ Obsessive-Compulsive มีความสัมพันธ์กับปัญหาทางด้านจิตใจในกลุ่มอาการ Depression, Interpersonal Sensitivity, Anxiety และ Psychoticism มีค่าสหสัมพันธ์เท่ากับ 0.81,0.79,0.79, และ 0.75 ตามลำดับ 6.2 ปัญหาทางด้านจิตใจของผู้ป่วยโรคลมชักในกลุ่มอาการ Interpersonal Sensitivity มีความสัมพันธ์กับปัญหาทางด้านจิตใจในกลุ่มอาการ Depression, Obsessive - Compulsive, Anxiety และ Psychoticism มีค่าสหสัมพันธ์ เท่ากับ 0.81, 0.79, 0.79, และ 0.77 ตามลำดับ 6.3 ปัญหาทางด้านจิตใจของผู้ป่วยลมชักในกลุ่มอาการ Depression มีความสัมพันธ์กับปัญหาทางด้านจิตใจในกลุ่มอาการ Obsessive - Compulsive, Interpersonal Sensitivity, และ Anxiety มีค่าสหสัมพันธ์ เท่ากับ 0.81,0.81 และ 0.76 ตามลำดับ 6.4 ปัญหาทางด้านจิตใจของผู้ป่วยโรคลมชักในกลุ่มอาการ Anxiety มีความสัมพันธ์กับปัญหาทางด้านจิตใจในกลุ่มอาการ Obsessive - Compulsive, Interpersonal Sensitivity Depression และ Psychoticism มีค่าสหสัมพันธ์เท่ากับ 0.79, 0.79 ,0.76 และ 0.77 ตามลำดับ 6.5 ปัญหาทางด้านจิตใจของผู้ป่วยโรคลมชักในกลุ่มอาการ Paranoid Ideation มีความสัมพันธ์กับปัญหาทางด้านจิตใจในกลุ่มอาการ Psychoticism มีค่าสหพันธ์เท่ากับ 0.75 6.6 ปัญหาด้านจิตใจของผู้ป่วยโรคลมชักในกลุ่มอาการ Psychoticism มีความสัมพันธ์กับปัญหาทางด้านจิตใจในกลุ่มอาการ Interpersonal Sensitivity, Anxiety, obsessive-Compulsive และ Paranoid Ideation มีค่าสหสัมพันธ์ เท่ากับ 0.77, 0.77, 0.75 และ 0.75 ตามลำดับ

Keywords: epilepsy, psychiatry, SCL-90, จิตเวช, จิตเวชศาสตร์, โรคลมชัก, ลมชัก

ปีที่เผยแพร่/Year: 2539

Address: โรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมา กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

Code: 302390000008

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: นิพนธ์ต้นฉบับ

Download: -