ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: สรวุฒิ สังข์รัศมี, พิมพาภรณ์ สังข์รัศมี, สุวรรณี เรืองเดช

ชื่อเรื่อง/Title: การศึกษาอารมณ์เศร้าในผู้ป่วยจิตเวชสูงอายุ กรณีศึกษา โรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมา

แหล่งที่มา/Source: เอกสารการวิจัย พ.ศ. 2541

รายละเอียด / Details:

การศึกษาเรื่องอารมณ์เศร้าในผู้ป่วยจิตเวชสูงอายุ กรณีศึกษา โรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมา มีวัตถุประสงค์ในการวิจัย เพื่อ ศึกษาความชุก ระดับและปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์เศร้าในผู้ป่วยจิตเวชสูงอายุ รวมทั้ง เปรียบเทียบความแตกต่างของอารมณ์เศร้ากับปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์เศร้าด้วย เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ เป็นแบบสัมภาษณ์ที่สร้างขึ้นเอง ซึ่งผ่านการทดสอบความตรงของเนื้อหา และแบบทดสอบวัดอารมณ์เศร้าของ Beck ซึ่งเป็นแบบทดสอบมาตรฐานกลุ่มตัวอย่างที่ศึกษาครั้งนี้เป็นผู้ป่วยจิตเวชสูงอายุที่มารับบริการที่โรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมา ในช่วงเดือน พฤศจิกายน 2538-มกราคม 2539 รวม 103 ราย เป็น หญิง 58 ราย ชาย 45 ราย ใช้โปรแกรม Epi Info version 6 ในการวิเคราะห์ข้อมูลและแสดงข้อมูลด้วยค่าสถิติคือ ร้อยละ ค่าเฉลี่ยส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน t-test F-test และค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์เพียร์สัน ผลการศึกษา พบว่า ผู้ป่วยจิตเวชสูงอายุ ส่วนใหญ่มีอารมณ์เศร้า คิดเป็นร้อยละ 58.3 เป็นอารมณ์เศร้าระดับเล็กน้อยมากกว่าระดับอื่น คิดเป็นร้อยละ 28.2 ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์เศร้าของผู้ป่วยจิตเวชสูงอายุอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับความเชื่อมั่น 95 % ได้แก่ การมีโรคทางกาย (p=0.02) และการทำงาน (P=0.01) สำหรับปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์เศร้าของผู้ป่วยจิตเวชสูงอายุแต่ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ ได้แก่ การพักอาศัยกับบุคคลต่าง ๆ การอยู่กับคู่ครอง ระดับการศึกษา อายุ การเปลี่ยนแปลงสถานภาพทางสังคม การได้รับความช่วยเหลือจากชุมชน รายได้และการได้รับความช่วยเหลือจากญาติที่ไม่ได้อยู่ร่วมบ้าน หรือเพื่อนบ้าน การศึกษาครั้งนี้ มีข้อเสนอแนะสำหรับการดูแลผู้สูงอายุ ดังนี้ 1. ผู้ป่วยสูงอายุทุกราย ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยทางจิตเวชหรือผู้ป่วยฝ่ายกายควรได้รับการดูแล เอาใจใส่ เรื่องอารมณ์เศร้า จากผู้ที่มีหน้าที่ดูแลรักษาโดยเฉพาะสถานบริการสาธารณสุขที่ให้บริการผู้ป่วยจิตเวช เช่น โรงพยาบาลจิตเวช ควรให้ความสนใจเป็นพิเศษ 2. ควรมีการดำรงไว้ซึ่งสภาพสังคมไทยในรูปแบบเดิม เช่นรูปแบบครอบครัวที่อาศัยอยู่ร่วมกันของคนหลายวัย การช่วยเหลือเกื้อกูลกันในสังคม ฯลฯ จะเป็นสิ่งที่ช่วยให้ผู้สูงอายุ ได้รับการดูแล มีความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกหลาน มองเห็นคุณค่าของตนเอง และมีสุขภาพจิตที่ดี 3. บุตรหลานของผู้สูงอายุที่อยู่ห่างไกล ควรมีการติดต่อไปมาหาสู่กับผู้สูงอายุเป็นประจำ เพื่อไม่ให้ผู้สูงอายุรู้สึกว่าถูกทอดทิ้ง ซึ่งอาจก่อให้เกิดอารมณ์เศร้าได้ 4. ครอบครัวของผู้สูงอายุ ควรมีการสนับสนุนให้ผู้สูงอายุมีการทำงานจะช่วยให้ผู้สูงอายุรู้สึกมีคุณค่า อย่างไรก็ตาม ลักษณะงานที่จะให้ผู้สูงอายุทำนั้นต้องเหมาะกับผู้สูงอายุแต่ละคน 5. สถานบริการสาธารณสุขที่ให้บริการผู้ป่วยสูงอายุ น่าจะพัฒนาขีดความสามารถในการให้บริการที่ครอบคลุมทั้งกาย ใจ รวมทั้งการฟื้นฟูสมรรถภาพ ด้วยโดยอาจ ดำเนินงานในรูป คลินิคพิเศษ หรือการสร้างเครือข่ายกับสถานบริการสาธารณสุขอื่นที่เน้นการให้บริการเฉพาะทาง 6. ควรมีการสนับสนุนให้ผู้สูงอายุพักอาศัยกับญาติใกล้ชิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอยู่กับคู่สมรส เพื่อลดการเกิดอารมณ์เศร้า สำหรับข้อเสนอแนะในการศึกษาวิจัยควรมีการศึกษาอารมณ์เศร้าของผู้สูงอายุที่อยู่ในชุมชน ผู้สูงอายุที่มีโรคทางกายในสถานบริการสาธารณสุขหรือสถาบันที่ดูแลผู้สูงอายุ นอกจากนี้ น่าจะมีการศึกษาเปรียบเทียบอารมณ์เศร้าของผู้สูงอายุกับวัยอื่น ๆ และควรศึกษา ปัญหาความต้องการและความคาดหวังของผู้สูงอายุต่อการจัดสวัสดิการของรัฐ และต่อครอบครัว

Keywords: depress, depression, depressive, family, geriatrics, psychiatry, psychology, social, , ครอบครัว, จิตวิทยา, จิตเวช, จิตเวชศาสตร์, ซึม, ซึมเศร้า, ผู้สูงอายุ, ภาวะซึมเศร้า, โรคซึมเศร้า, เศร้า, สังคม

ปีที่เผยแพร่/Year: 2541

Address: โรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมา กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

Code: 302410000009

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: นิพนธ์ต้นฉบับ

Download: -