ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: สรวุฒิ สังข์รัศมี

ชื่อเรื่อง/Title: การสำรวจความเครียดของเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจร กรณีศึกษาสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองนครราชสีมา

แหล่งที่มา/Source: เอกสารการวิจัยเรื่อง การสำรวจความเครียดของเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจร กรณีศึกษาสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองนครราชสีมา , พ.ศ. 2541

รายละเอียด / Details:

การสำรวจความเครียดของเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจร กรณีศึกษาสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองนครราชสีมามีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความเครียดและปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับความเครียดของเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจร สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองนครราชสีมา เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ เป็นแบบสอบถามที่สร้างขึ้นเอง ผ่านการทดสอบความตรงของเนื้อหาและแบบทดสอบความเครียด HOS (Health Opinion Survey) ซึ่งเป็นแบบทดสอบมาตรฐาน กลุ่มตัวอย่างที่ศึกษาครั้งนี้เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจร สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองนครราชสีมา จำนวน 55 ราย เป็นเพศชายทั้งหมด ใช้โปรแกรม Epi Info version 6 วิเคราะห์ข้อมูลและแสดงค่าสถิติ คือ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน t-test และ F-test ผลการศึกษาพบว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรส่วนใหญ่ มีความเครียดอยู่ในระดับต่ำ คิดเป็นร้อยละ 85.5 มีบางส่วนที่มีความเครียดสูงแต่ยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ ซึ่งมีโอกาสที่จะมีปัญหาได้ง่าย คิดเป็นร้อยละ 12.7 สำหรับปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับความเครียดของเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับความเชื่อมั่น 95 % ได้แก่ ปัจจัยสุขภาพ (p = 0.038) การได้รับการสนับสนุนจากผู้บังคับบัญชา (p = 0.043) ความสงบสุขในครอบครัว (p = 0.339) การศึกษา (p = 0.043) เวลาให้กับครอบครัว (p = 0.023) สำหรับปัจจัยที่เกี่ยวข้องแต่ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ ได้แก่ อายุ รายได้ ระยะเวลาในการปฏิบัติงานด้านจราจร การเปลี่ยนแปลงหน้าที่ความรับผิดชอบ การศึกษาครั้งนี้มีข้อเสนอแนะในการดูแลสุขภาพจิตของเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจร มีดังนี้ 1. ควรมีการสนับสนุนให้เจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรได้ออกกำลังกายโดยกำหนดให้เป็นนโยบายตั้งแต่ระดับสูงลงมา 2. ผู้บังคับบัญชาทุกระดับน่าจะต้องสนับสนุนเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรในเรื่องต่าง ๆ เช่น การจัดหาอุปกรณ์เพื่อช่วยในการปฏิบัติงาน เป็นต้น เพื่อลดความเครียดเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรอันจะเป็นผลให้การปฏิบัติงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น และปฏิบัติงานอย่างมีความสุข 3. ผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น ผู้บังคับบัญชา น่าจะหาวิธีส่งเสริมป้องกันและแก้ไขปัญหาสุขภาพจิตภายในครอบครัว เพื่อช่วยให้ครอบครัวมีความสงบสุข 4. ในเมืองใหญ่ที่มีการจราจรคับคั่ง น่าจะมีการนำบุคลากรอื่นมาเป็นอาสาสมัครช่วยปฏิบัติงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจร 5. ควรปลูกฝังวินัยจราจรให้แก่ประชากรตั้งแต่ในวัยเยาว์ 6. กรมตำรวจน่าจะนำเทคโนโลยีมาช่วยในการออกแบบสัญลักษณ์จราจรและควบคุมจราจรให้ทั่วถึง โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ ๆ ที่นอกเหนือจากกรุงเทพมหานคร 7. ผู้บังคับบัญชาระดับต้น ๆ น่าจะสนับสนุนให้เจ้าหน้าที่ตำรวจจราจร ศึกษาต่อจนถึงระดับปริญญาตรี สำหรับข้อเสนอแนะในการศึกษาวิจัย 1. ควรจะมีการศึกษาความเครียดของเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรทุกสถานีตำรวจแต่ละจังหวัดเพื่อเปรียบเทียบความเครียดตามลักษณะพื้นที่และปริมาณงานที่ต้องปฏิบัติ จะทำให้สรุปปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับภาวะแวดล้อมที่ชัดเจนขึ้น 2. ควรมีการศึกษาปัจจัยโรคทางกายให้เข้มแข็งโดยการตรวจสุขภาพในช่วงที่ศึกษาความเครียด อาจมีเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรที่มีปัญหาสุขภาพ โดยเฉพาะปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับการได้รับสารพิษจากมลภาวะ แต่ไม่เคยตรวจมาก่อน จะยิ่งทำให้สรุปถึงปัจจัยโรคทางกายมีผลต่อความเครียดได้ชัดเจนขึ้น

Keywords: เครียด, ความเครียด, stress

ปีที่เผยแพร่/Year: 2541

Address: โรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมา กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

Code: 302410000017

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: นิพนธ์ต้นฉบับ

Download: -