ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: สมพัฒน์ ศรีแกล้ว, สมบูรณ์ สุมันตกุล, วรรณภา ระมิงค์วงศ์, และอื่นๆ

ชื่อเรื่อง/Title: สำรวจความเครียดของญาติผู้ป่วยในโรงพยาบาลสวนปรุง เชียงใหม่

แหล่งที่มา/Source: เอกสารการวิจัย,พ.ศ. 2532

รายละเอียด / Details:

การวิจัยเรื่องนี้มีวัตถุประสงค์คือ (1) เพื่อศึกษาระดับความเครียดของญาติผู้ป่วยในโรงพยาบาลสวนปรุง (2) เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อความเครียดของญาติผู้ป่วยในโรงพยาบาลสวนปรุง (3) เพื่อศึกษาเปรียบเทียบระดับความเครียดของญาติผู้ป่วยที่มี เพศ อายุ การศึกษา อาชีพ สถานภาพสมรส ความสัมพันธ์กับผู้ป่วย รายได้ของครอบครัว รายได้ของผู้ป่วย การวินิจฉัยโรค และจำนวนครั้งที่อยู่โรงพยาบาลของผู้ป่วยที่แตกต่างกัน ทำการวิจัยโดย วิธีการวิจัยเชิงพรรณนา กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ ญาติใกล้ชิดซึ่งเป็นบุคคลในครอบครัวเดียวกับผู้ป่วย จำนวน 195 คน โดยไม่จำกัด เพศ อายุ การศึกษา และสถานภาพสมรส สถานที่ทำการวิจัยคือ โรงพยาบาลสวนปรุง เชียงใหม่ โดยการสัมภาษณ์ญาติของผู้ป่วยทุกคนที่รับไว้ในโรงพยาบาลสวนปรุง เฉพาะวันจันทร์ - พุธ - ศุกร์ เครื่องมือของการวิจัย มี 2 ชุด คือ (1) แบบสอบถามเกี่ยวกับข้อมูลส่วนตัวทั่วไป โดยถามเกี่ยวกับเพศ อายุ อาชีพ การศึกษา สถานภาพการสมรส ความสัมพันธ์กับผู้ป่วย รายได้ของครอบครัวรายได้ของผู้ป่วย การวินิจฉัยโรคจำนวนครั้งที่อยู่ในโรงพยาบาล จังหวัดที่อยู่อาศัย (2) แบบสำรวจความเครียดของ Health opinion Survey (HOS) เป็นเครื่องมือประเมินระดับความเครียดของแต่ละบุคคลซึ่งมีด้วยกันทั้งหมด 20 ข้อ เป็นคำถามที่เกี่ยวกับอาการต่าง ๆ ทางร่างกายอันเป็นผลเกิดจากปฏิกิริยาเมื่อร่างกายได้รับความเครียด แบบสำรวจความเครียด นี้ได้สร้างขึ้นมาสำรวจครั้งแรกที่ Stirling Country ในปี 1950-1969 อันเป็นโครงการของ Bcial Psychiatry ของมหาวิทยาลัย Cornell สหรัฐอเมริกา แบบสำรวจนี้สามารถวัดความเครียดได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นเครื่องมือสำรวจที่ทำได้ง่ายและรวดเร็ว ซึ่งพันเอกหญิงบรรจง สืบสมาน ได้ดัดแปลงและนำมาใช้ในประเทศไทยเป็นท่านแรก วิเคราะห์ข้อมูลโดยวิธีการทางสถิติด้วยการหาคะแนนเฉลี่ย, ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน T-test การวิเคราะห์ ความแปรปรวน (Anova) เสนอผลการวิจัยโดยวิธีการ ส่งรายงานการวิจัยให้หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องและเผยแพร่ในวารสาร ผลการวิจัยพบว่า (1) ค่าเฉลี่ยความเครียดเท่ากับ 33.28 ญาติผู้ป่วยส่วนใหญ่ร้อยละ 66.2 มีความเครียดระดับปานกลาง ร้อยละ 14.4 มีความเครียดระดับสูง (2) ผู้ที่มีความสัมพันธ์กับผู้ป่วยในฐานะ สามี - ภรรยา มีระดับความเครียดที่มีแนวโน้มสูงกว่าผู้มีความสัมพันธ์อย่างอื่น โดยมีค่าเฉลี่ยระดับความเครียด 34.23 (3) ญาติผู้ป่วยที่นำผู้ป่วยมาส่งโรงพยาบาล เป็นชายร้อยละ 60.3 เป็นหญิงร้อยละ 39.7 ทั้งสองกลุ่มมีระดับความเครียดไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 โดยมีค่าเฉลี่ยความเครียดเพศชาย 33.44 เพศหญิง 33.04 ตามลำดับ (4) ญาติผู้ป่วยที่มีอายุ 20 - 35 ปี เป็นผู้นำส่งผู้ป่วยมาโรงพยาบาลมากที่สุด คือ ร้อยละ 40.0 เมื่อเปรียบเทียบระดับความเครียดในแต่ละช่วงอายุพบว่า ผู้มีอายุระหว่าง 36-50 ปี มีแนวโน้มความเครียดสูงกว่า คือ 33.90 ผู้มีอายุระหว่าง 0 - 15 ปี มีแนวโน้มความเครียดต่ำสุด คืออยู่ในระดับ 28.30 (5) ญาติผู้ป่วยร้อยละ 81.0 มีการศึกษาระดับประถม และพบว่า ญาติผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการศึกษามีแนวโน้มความเครียดสูงกว่ากลุ่มอื่น ๆ คือ อยู่ในระดับ 35.47 (6) ญาติผู้ป่วยร้อยละ 55.4 ประกอบอาชีพเกษตรกร เมื่อเปรียบเทียบระดับความเครียด พบว่าญาติผู้ป่วยที่มีอาชีพแตกต่างกันมีค่าระดับความเครียดไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 (7) เมื่อเปรียบเทียบระดับความเครียดกับสถานภาพสมรสของญาติผู้ป่วย พบว่าญาติผู้ป่วยที่มีสถานภาพสมรส หม้ายและหย่า มีความเครียดอยู่ในระดับสูงกว่ากลุ่มอื่นคือ 37.05 และ 37.50 ตามลำดับ และเมื่อทดสอบค่าทางสถิติพบว่า ผู้มีสถานภาพหม้ายและหย่ามีระดับความเครียดสูงกว่าผู้มีสถานภาพสมรสคู่และโสด อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 (8) ครอบครัวผู้ป่วยส่วนใหญ่ร้อยละ 20 มีรายได้ 10,000 - 15,000 บาท/ปี เมื่อเปรียบเทียบกับระดับความเครียด พบว่า ผู้มีรายได้ระดับ 25,000 - 30,000 บาท/ปี มีแนวโน้มความเครียดสูงกว่ากลุ่มอื่น คือ 35.44 ส่วนผู้มีรายได้ต่ำกว่า 5,000 บาท/ปี มีแนวโน้มความเครียดต่ำสุด พบว่า ญาติของผู้ป่วยที่มีรายได้มากกว่า 20,000 บาท/ปี มีแนวโน้มความเครียดสูงกว่ากลุ่มอื่นคือ 37.33 (9) ผู้ป่วยร้อยละ 71.8 เป็นโรค Schizophrenia (จิตเภท) เมื่อเปรียบเทียบกับระดับความเครียดพบว่า ญาติของผู้ป่วย mania และ epilepsy มีแนวโน้มระดับความเครียดสูงกว่าญาติผู้ป่วยกลุ่มอื่น คือมีระดับ 35.11 และ 35.33 ตามลำดับ (10) ผู้ป่วยส่วนใหญ่ร้อยละ 48.7 เป็นผู้มารับการรักษาครั้งที่ 2-4 เมื่อเปรียบเทียบกับระดับความเครียดพบว่า ญาติผู้ป่วยที่พาผู้ป่วยมารักษาครั้งแรกมีแนวโน้มที่จะมีระดับความเครียดสูงกว่ากลุ่มอื่น ๆ คือ 33.69 แต่เมื่อหาค่าทางสถิติพบว่า ไม่มีค่าความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญในแต่ละกลุ่ม สรุปผลการศึกษาพบว่า เมื่อเปรียบเทียบระดับความเครียดของญาติผู้ป่วยในโรงพยาบาลสวนปรุงกับสถานภาพด้านต่าง ๆ แล้ว นอกจากญาติผู้ป่วยที่มีสถานภาพ หม้ายหย่า ที่มีระดับความเครียดสูงกว่าผู้มีสถานภาพคู่และโสดแล้ว ในด้านอายุ เพศ อาชีพ การศึกษา ความสัมพันธ์กับผู้ป่วย รายได้ของครอบครัว รายได้ของผู้ป่วย การวินิจฉัยโรคจำนวนครั้งที่ผู้ป่วยอยู่ในโรงพยาบาล ที่แตกต่างกัน มีผลทำให้เกิดความเครียดในระดับที่ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญของสถิติที่ระดับ .05

Keywords: HOS, psychiatry, service, stress, ความเครียด, เครียด, จิตเวช, จิตเวชศาสตร์, ญาติ, บริการ, ผู้ป่วยใน

ปีที่เผยแพร่/Year: 2532

Address: โรงพยาบาลสวนปรุง กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

Code: 305320000007

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: นิพนธ์ต้นฉบับ

Download: -