ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: สมบูรณ์ สุมันตกุล, สมพัฒน์ ศรีแกล้ว, ถาวร รามโยธิน, และคนอื่นๆ

ชื่อเรื่อง/Title: แนวทางการให้ความรู้สุขภาพจิตแก่ชุมชน

แหล่งที่มา/Source: เอกสารการวิจัย,พ.ศ. 2532

รายละเอียด / Details:

วัตถุประสงค์ คือ (1) เพื่อศึกษาแนวทางการใช้สื่อในการให้ความรู้เรื่องสุขภาพจิต (2) เพื่อทราบถึงความต้องการที่จะได้รับความรู้เรื่องสุขภาพจิตชุมชน และ (3) เพื่อศึกษาเปรียบเทียบการใช้สื่อในการรับรู้ ความรู้ ความเข้าใจ และความต้องการของชุมชน ทำการวิจัยโดยวิธีการวิจัยเชิงพรรณนา กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ ประชากรที่มีอายุระหว่าง 15 - 60 ปี ทั้งเพศชายและหญิง โดยเลือกจากชุมชนแออัด ชุมชนชนบท ชุมชนที่มีการศึกษา ในเขตจังหวัดเชียงใหม่ พื้นที่ของการวิจัย ชุมชนแออัดในเขตอำเภอเชียงใหม่ จำนวน 10 ชุมชน คือ (1) ชุมชนทิพยเนตร (2) ชุมชนระแกง (3) ชุมชนท่าสะต๋อย (4) ชุมชนเมืองสาตร (5) ชุมชนหัวฝ่าย (6) ชุมชนประตูก้อม (7) ชุมชนป่าดัน (8) ชุมชนสันติธรรม (9) ชุมชน 5 ธันวา (10) ชุมชนแม่ซิม เครื่องมือของการวิจัยคือ แบบสอบถามที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น แบ่งเป็น 3 ส่วน คือ (1) ข้อมูลทั่วไป ประกอบด้วย เพศ อายุ ระดับการศึกษา อาชีพ สถานภาพสมรส (2) ข้อมูลเกี่ยวกับการใช้สื่อ มีทั้งหมด 26 ข้อ และ (3) ข้อมูลเกี่ยวกับความรู้ทั่วไปที่เกี่ยวกับสุขภาพจิต มีทั้งหมด 30 ข้อ วิเคราะห์ข้อมูลด้วยวิธีการทางสถิติ โดยคำนวณเป็นค่าร้อยละ และ CHI SQUARE เสนอผลการวิจัยโดยวิธีการส่งรายงานการวิจัยให้หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องและเผยแพร่ลงวารสาร ผลการวิจัย พบว่า ประการแรก ประชากรที่ศึกษานิยมฟังวิทยุมากที่สุด รองลงมาได้แก่ หนังสือพิมพ์และโทรทัศน์ ประการที่สอง ประชากรที่ศึกษายังขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องการเลือกคู่ครอง อนามัยแม่และเด็ก การบริบาลทารก เพศศึกษา จิตวิทยาวัยรุ่น และสุขภาพจิตดังนั้น ประชากรจึงมีความสนใจและต้องการที่จะได้รับความรู้ดังกล่าว ประการที่สาม ประชากรที่ทำการศึกษานิยมฟังวิทยุมากในจำนวนพอ ๆ กัน แต่ในช่วงเวลาและรายการที่นิยมฟังแตกต่างกัน สำหรับโทรทัศน์ ประชากรที่ศึกษานิยมดูโทรทัศน์ทุกวันในจำนวนพอ ๆ กัน รายการที่นิยมคือ รายการข่าว แต่สถานีที่เลือกชมแตกต่างกัน ส่วนหนังสือพิมพ์ ประชากรที่ศึกษานิยมอ่านหนังสือพิมพ์แตกต่างกัน จากผลของการวิจัยครั้งนี้จะเห็นได้ว่า การใช้สื่อที่จะให้ความรู้ทางสุขภาพจิต นั้น ใช้สื่อได้ทุกรูปแบบ ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของกลุ่มเป้าหมายและวิธีนำเสนอ ควรให้เป็นรูปธรรมเพื่อง่ายแก่การเข้าใจ สามารถนำไปใช้ได้ ส่วนเนื้อหาต้องสอดคล้องกับปัญหาและความต้องการของชุมชนนั้น ๆ

Keywords: community, psychiatry, จิตเวช, จิตเวชศาสตร์, ชุมชน

ปีที่เผยแพร่/Year: 2532

Address: โรงพยาบาลสวนปรุง กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

Code: 305320000011

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: นิพนธ์ต้นฉบับ

Download: -