ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: ขนาน หัสศิริ, สุชาดา สาครเสถียร, สุวัฒน์ มหัตนิรันดร์กุล, ปริทรรศ ศิลปกิจ, อัมพร หะยาจันทา, ลัดดาวัลย์ พิบูลย์ศรี, ณัจฐาพร เครือฝัน, ฟองอุไร ภูมิศิริรักษ์

ชื่อเรื่อง/Title: การพัฒนารูปแบบการพึ่งตนเองของผู้ป่วยจิตเวชในชุมชน

แหล่งที่มา/Source: เอกสารการวิจัย,พ.ศ. 2537

รายละเอียด / Details:

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ (1) เพื่อศึกษารูปแบบในการพัฒนาการพึ่งตนเอง ของผู้ป่วยจิตเวชในชุมชน ให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ในชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และพึ่งตนเองได้มากที่สุด (2) เพื่อเปรียบเทียบค่าคะแนนเฉลี่ยของการศึกษาศักยภาพการดูแลผู้ป่วยจิตเวชในชุมชน (3) เพื่อศึกษารูปแบบการสร้างทัศนคติที่ดีของบุคคลในชุมชนต่อผู้ป่วยจิตเวช ให้เกิดการยอมรับและให้การสนับสนุนผู้ป่วยประชากรที่ใช้ใน การศึกษา คือ ญาติและผู้ป่วยจิตเวชที่เคยมารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลสวนปรุง ที่มีภูมิลำเนาอยู่ในอำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ และบุคคลในชุมชนที่อาศัยอยู่ในอำเภอสันป่าตองจังหวัดเชียงใหม่ โดยการรวบรวมข้อมูลครั้งที่ 1 ให้กลุ่มตัวอย่างตอบแบบสอบถาม แล้วคณะผู้วิจัยได้สอนความรู้สุขภาพจิตและแจกเอกสารแผ่นพับให้ พร้อมกับเปิดเสียงตามสายในหมู่บ้านอาทิตย์ละ 2 เรื่องและในการติดตามข้อมูลครั้งที่ 2,3 ใช้เวลาห่างกัน 1 เดือน โดยไม่มีการสอนความรู้สุขภาพจิตอีกเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย คู่มือฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยจิตเวชในชุมชน ซึ่งกองสุขภาพจิตร่วมกับโรงพยาบาลศรีธัญญาสร้างขึ้น แล้วนำไปทดลองใช้กับผู้ป่วยในชุมชน จำนวน 32 คน ซึ่งพบว่ามีค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ปานกลาง ส่วนเครื่องมือวัดทัศนคติของบุคคลในชุมชนนั้น คณะผู้วิจัยได้สร้างแบบสอบถามขึ้นเอง โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 3 คน ตรวจสอบความถูกต้องของเนื้อหา แล้วนำมาหาค่าความเชื่อมั่นด้วยวิธีของ ครอนบาค ได้ค่าความเชื่อมั่นสูงมากเท่ากับ 0.8250 การวิเคราะห์ข้อมูลทำโดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูป SPSS/PC+ หาค่าความถี่ ค่าร้อยละค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานของการศึกษาศักยภาพการดูแลผู้ป่วยจิตเวชของญาติ การวัดทัศนคติของบุคคลในชุมชนที่มีต่อผู้ป่วยจิตเวชก่อนและหลังการให้ความรู้สุขภาพจิต ส่วนการเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยของการศึกษาศักยภาพของการดูแลผู้ป่วยจิตเวชในแต่ละครั้ง และเปรียบเทียบค่าคะแนนเฉลี่ยก่อนและหลังการให้ความรู้สุขภาพจิต แก่บุคคลในชุมชนนั้น ใช้เปรียบเทียบโดยค่าที (t-test) ผลจากการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่า (1) รูปแบบของการพัฒนาศักยภาพการดูแลผู้ป่วยจิตเวชในชุมชนครั้งที่ 2 มีค่าคะแนนเฉลี่ยสูงกว่าครั้งที่ 1 และค่าคะแนนเฉลี่ยของครั้งที่ 3 สูงกว่าครั้งที่ 1 (2) ค่าคะแนนเฉลี่ยของการศึกษาศักยภาพการดูแลผู้ป่วยจิตเวชในชุมชนครั้งที่ 1,2 และครั้งที่ 2,3 มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 (3) ค่าคะแนนเฉลี่ยของทัศนคติของบุคคลในชุมชนก่อนการให้ความรู้สุขภาพจิตมีค่าคะแนนเฉลี่ยสูงกว่าหลังการให้ความรู้สุขภาพจิต และพบว่ามีความแตกต่างกันที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติที่ 0.05

Keywords: community, psychiatry, จิตเวช, จิตเวชศาสตร์, ชุมชน

ปีที่เผยแพร่/Year: 2537

Address: โรงพยาบาลสวนปรุง และ สำนักพัฒนาสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

Code: 305370000013

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: นิพนธ์ต้นฉบับ

Download: -