ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: กิตติวรรณ เทียมแก้ว, พิมพ์มาศ ตาปัญญา, วนิดา พุ่มไพศาลชัย

ชื่อเรื่อง/Title: สภาวะและที่มาของความเครียดของครูที่ปฏิบัติงานในเขตจังหวัดเชียงใหม่

แหล่งที่มา/Source: เอกสารการวิจัย,พ.ศ. 2541

รายละเอียด / Details:

วัตถุประสงค์ของการวิจัยครั้งนี้ เพื่อหาความเครียด, สาเหตุที่ทำให้เครียด และพฤติกรรมที่แสดงออกเมื่อเกิดความเครียดของข้าราชการครูในจังหวัดเชียงใหม่ กลุ่มตัวอย่างที่ศึกษาในครั้งนี้ได้จากการสุ่มแบบหลายขั้นตอน เครื่องมือที่ใช้ประกอบด้วยสามส่วน คือ ส่วนที่เป็นข้อมูลทั่วไป ส่วนที่สำรวจพฤติกรรมที่แสดงออกเมื่อรู้สึกเครียดซึ่งผู้วิจัยสร้างขึ้น ส่วนที่สามเป็นแบบวัดความเครียดสวนปรุงชุด 60 ตัวชี้วัด กลุ่มตัวอย่างเป็นข้าราชการครูที่ปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่เขตจังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 950 คน เป็นชาย 309 คน (32.59%) เป็นหญิง 641 คน (67.41%) อายุตั้งแต่ 19-60 ปี (เฉลี่ย 39.4 + 12.9 ปี), 78.6% มีสถานภาพสมรสแล้ว, 82.4% มีการศึกษาสูงสุดระดับปริญญาตรี, รายได้เฉลี่ย 26,219 + 24,583 บาท ผลการวิจัยพบว่า ข้าราชการครู 77.4% มีวิถีชีวิตที่ไวต่อการเกิดความเครียดอยู่ในระดับสูงถึงสูงมาก, และ 20.1% มีความเครียดโดยรวมอยู่ในระดับสูงถึงรุนแรง ซึ่งถือว่าเป็นระดับที่ก่ออันตรายต่อร่างกาย โดยมีสาเหตุความเครียด 3 อันดับแรกมาจาก 1. เรื่องครอบครัว (คือเกิดจากมีความลำบากที่จะทำให้ได้อย่างที่ครอบครัวต้องการ, ครอบครัวขัดแย้งในเรื่องเงินหรืองานในบ้าน และชีวิตคู่มีปัญหาตามลำดับ) 2. เรื่องการเงินและเศรษฐกิจ (เกิดจากรายจ่ายเพิ่มขึ้น, เงินไม่พอใช้จ่าย, ไม่มีเงินพอสำหรับการพักผ่อนหย่อนใจ) 3. จากสภาพแวดล้อม (เกิดจากความรู้สึกเป็นกังวลเกี่ยวกับสารพิษและมลภาวะ, ปัญหาการจราจรการเดินทาง และไม่มีที่พักผ่อนหย่อนใจ) ในส่วนอาการของความเครียดที่แสดงออกของข้าราชการครู 21.1% มีอาการในระดับเครียดสูงถึงรุนแรง ที่พบมาก 3 อันดับแรกคือ อาการเครียดที่แสดงออกทางระบบภูมิคุ้มกัน, ระบบต่อมไร้ท่อ และทางอารมณ์ จากการศึกษาความสัมพันธ์ว่า ระดับความเครียดมีความสัมพันธ์ในทิศทางตรงกันข้ามกับอายุ, อายุราชการ และรายได้ของครอบครัว (P‹0.05) ทั้งยังสัมพันธ์กับปัจจัยอื่น ๆ อีก ได้แก่ สถานภาพสมรส คนที่หย่าร้าง, คนที่เป็นหม้ายจะมีโอกาสเครียดในระดับสูงได้มาก คนที่อาศัยอยู่แยกกันกับคู่สมรส หรือครอบครัว จะมีความเครียดในระดับสูงได้มากกว่าคนที่อาศัยอยู่ด้วยกันกับครอบครัว ข้าราชการครูในสังกัดของกรมสามัญศึกษาจะมีความเครียดในระดับที่สูงและรุนแรงมากกว่าครูในสังกัดการประถมศึกษา นอกจากนี้ยังพบว่าคนที่มีความเครียดในระดับสูง ๆ มีโอกาสที่จะคิดฆ่าตัวตาย หรือคิดฆ่าผู้อื่นได้สูงตามไปด้วย (P<0.05) จากการสำรวจความคิดอยากฆ่าตัวตาย หรือฆ่าผู้อื่น พบว่าในระยะ 6 เดือน ที่ผ่านมาข้าราชการครู 7.5% มีความคิดอยากฆ่าตัวตาย และ 11.2 % คิดที่จะฆ่าผู้อื่น ในกลุ่มที่มีความคิดอยากฆ่าตัวตาย 52.1% จะมีความคิดที่จะฆ่าผู้อื่นด้วย ในส่วนของการสำรวจบริการสุขภาพจิตที่โรงพยาบาลสวนปรุง กรมสุขภาพจิต จัดไว้บริการนั้น ข้าราชการครู 46.5% ไม่ทราบว่ามีบริการปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตทางโทรศัพท์ และ 58.6% ไม่ทราบว่ามีบริการคลินิกคลายเครียด สำหรับพฤติกรรมที่กลุ่มข้าราชการครูเลือกใช้มากที่สุดเมื่อเกิดความเครียดเป็นพฤติกรรมแบบบรรเทาความเครียดมากกว่าจะเป็นแบบแก้ที่ปัญหา กิจกรรมที่ต้องการให้หน่วยงานสนับสนุนหรือจัดให้มีขึ้น 3 อันดับแรก คือ จัดให้มีสถานที่หรือห้องสำหรับพักผ่อนยามว่างไว้ในที่ทำงาน,สนับสนุนการออกกำลังกาย ทั้งอุปกรณ์และสถานที่, จัดให้มีเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ผลการวิจัยครั้งนี้จะเกิดประโยชน์อย่างมาก หากนำข้อมูลที่ได้ไปใช้ในการปรับปรุง, ส่งเสริมให้ข้าราชการครูในจังหวัดเชียงใหม่ มีความรู้และเข้าใจถึงความเครียด สามารถสำรวจและประเมินความเครียดของตนเองได้ สนับสนุนให้เกิดการปรับเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิตให้เอื้อต่อสุขภาพ มีความทนทานต่อความเครียดและสามารถจัดการกับความเครียดได้ด้วยตนเอง หน่วยงานของรัฐควรจะจัดสรรสวัสดิการต่าง ๆ ที่เกื้อหนุนต่อการครองชีพและการทำงานให้มากขึ้น เป็นการเพิ่มขวัญและกำลังใจ และช่วยยกระดับสุขภาพจิตข้าราชการครูให้ดีขึ้น

Keywords: community, psychiatry, stress, ข้าราชการ, ครู, ความเครียด, เครียด, จิตเวช, จิตเวชศาสตร์, ชุมชน

ปีที่เผยแพร่/Year: 2541

Address: โรงพยาบาลสวนปรุง กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

Code: 305410000001

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: นิพนธ์ต้นฉบับ

Download: -