ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: ศิริพร วรรณทศ, อาภาพิตร พูลพุทธพงษ์

ชื่อเรื่อง/Title: การศึกษาระบาดวิทยาในครอบครัวที่มีบุตรสองคนกับปัญหาสุขภาพจิต

แหล่งที่มา/Source: เอกสารการวิจัย พ.ศ. 2529

รายละเอียด / Details:

การศึกษาครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายที่จะศึกษาครอบครัวที่มีบุตรสองคน อันเนื่องมาจากการพัฒนาประเทศทำให้สังคมและเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และมีผลกระทบต่อระบบโครงสร้างของสังคมโดยเฉพาะครอบครัว จำนวนประชากรได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ รัฐบาลจึงพยายามที่จะลดอัตราการเพิ่มของประชากร สนับสนุนให้ประชาชนมีครอบครัวขนาดเล็ก ศูนย์สุขวิทยาจิตมีนโยบายในการป้องกันและแก้ไขปัญหาสุขภาพจิต ฝ่ายสังคมสงเคราะห์มีหน้าที่รับผิดชอบในการศึกษาประวัติคนไข้อย่างละเอียด จึงได้จัดทำแบบรายงานระบาดวิทยาขึ้นในการปฏิบัติงาน เพื่อเป็นการส่งเสริมการป้องกันปัญหาสุขภาพจิต และส่งเสริมให้การปฏิบัติงานในด้านการบำบัดรักษาอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งเสริมคุณภาพชีวิตของเด็กและเป็นการพัฒนางานของฝ่ายสังคมสงเคราะห์ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น จึงได้ทำการศึกษาระบาดวิทยาในคนไข้ดังกล่าว ในปี 2527 จำนวน 102 ราย อายุระหว่าง 1-20 ปี จากการศึกษาพบว่าเด็กที่มารับบริการส่วนใหญ่จะมีอายุเฉลี่ย 7.3 ปี มารดาจะเป็นผู้พามารับบริการ เด็กมีปัญหาการเรียนไม่ดี เมื่อแพทย์วินิจฉัยแล้วเป็น Mental Retardation ร้อยละ 29.41 ซึ่งเป็นบุตรคนโต บิดามารดามีฐานะทางเศรษฐกิจค่อนข้างต่ำ มีการศึกษาระดับประถมศึกษา จึงเป็นไปได้ว่าบิดามารดาขาดความรู้ความเข้าใจในการป้องกันปัญหาสุขภาพจิตในระยะเริ่มแรกคือระหว่างตั้งครรภ์ และการเลี้ยงดูในวัยเด็กอ่อนที่มีผลต่อสติปัญญา นอกจากนี้ผู้ศึกษาจึงได้ทำการศึกษาแยกเด็กที่มีปัญหาอารมณ์และจิตใจ จำนวน 10 ราย พบว่า เด็กกลุ่มนี้อายุเฉลี่ย 13.5 ปี เป็นบุตรคนโต บิดามารดาอยู่ด้วยกันแต่ทะเลาะกันเสมอ การศึกษาของมารดาอยู่ในระดับมัธยมและบิดาอยู่ในระดับปริญญา เด็กมีปัญหาในการปรับตัว ไม่มั่นใจในตนเอง คิดมาก พูดเพ้อเจ้อ และปัสสาวะรดที่นอน บุตรคนโตที่มีปัญหาเหล่านี้อยู่ในครอบครัวที่สมบูรณ์ คือมีทั้งบิดาและมารดาแต่ความสัมพันธ์ระหว่างบิดามารดาไม่ดี ซึ่งมีผลต่อปัญหาอารมณ์และจิตใจของเด็ก ขณะเดียวกันเด็กอยู่ในครอบครัวเดี่ยวสูง เด็กจึงขาดที่พึ่งทางใจจากญาติ เมื่อบิดามารดามีปัญหากันจากข้อเสนอแนะควรมีการศึกษาต่อไปอีกว่า ลำดับการเกิดของบุตรมีผลต่อปัญหาสุขภาพจิตอย่างไรโดยเฉพาะบุตรคนโต ท่าทีการเลี้ยงดูของบิดามารดาเป็นเช่นไร และบิดามารดาที่มีการศึกษาระดับอุดมศึกษาลูกจะมีปัญหาสุขภาพจิตมากกว่าบิดามารดาที่มีการศึกษาระดับประถมศึกษาหรือไม่ โดยมุ่งไปในการเลี้ยงดูและท่าทีของบิดามารดาเป็นสำคัญ

Keywords: child, child psychiatry, epidemiology, family, social, ครอบครัว, จิตเวช, จิตเวชเด็ก, จิตเวชศาสตร์, เด็ก, ปัญญาอ่อน, ภาวะปัญญาอ่อน, ระบาดวิทยา, โรคปัญญาอ่อน, สังคม, สังคมสงเคราะห์

ปีที่เผยแพร่/Year: 2529

Address: ศูนย์สุขวิทยาจิต กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

Code: 306290000004

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: นิพนธ์ต้นฉบับ

Download: -