ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: นิวัติ เอี่ยมเที่ยง, ภัทรา ถิรลาภ, อริสสา ฤทธิกาญจน์

ชื่อเรื่อง/Title: ภูมิปัญญาของหมอพื้นบ้านที่มีความสัมพันธ์ต่อภาวะสุขภาพจิตของผู้รับบริการ , กรณีศึกษาหมอพื้นบ้านจังหวัดชัยนาท

แหล่งที่มา/Source: เอกสารการวิจัย พ.ศ. 2540

รายละเอียด / Details:

การศึกษาครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา ภูมิปัญญาของหมอพื้นบ้านที่มีความสัมพันธ์ต่อภาวะสุขภาพจิตของผู้รับบริการ โดยวิธีกรณีศึกษาทางมนุษยวิทยาและการสังเกต กลุ่มตัวอย่างแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ หมอพื้นบ้านและผู้รับบริการกับหมอพื้นบ้าน จำนวนกลุ่มละ 48 ราย การสุ่มตัวอย่างหมอพื้นบ้านใช้การสุ่มแบบเจาะจง คือ เจาะจงหมอพื้นบ้านที่ได้รับความนิยมสูงสุดในจังหวัดชัยนาทและไม่เคยถูกทำการศึกษาอื่นใดมาก่อน โดยแบ่งเป็นหมอไสยศาสตร์ จำนวน 26 ราย , หมอน้ำมันมนตร์ จำนวน 10 ราย , หมอสมุนไพร จำนวน 10 ราย และหมอนวดไทย จำนวน 2 ราย ส่วนผู้รับบริการใช้การสุ่มตัวอย่างแบบง่าย คือ สุ่มผู้รับบริการที่รับบริการกับหมอพื้นบ้านอยู่ในขณะนั้นหรือเคยรับบริการในอัตราส่วน 1:1 การเก็บรวบรวมข้อมูลโดยการสัมภาษณ์จากแบบสัมภาษณ์ที่ทางคณะผู้ศึกษาสร้างขึ้น วิเคราะห์ข้อมูลโดย หาค่าร้อยละ , ค่าเฉลี่ย , ส่วนเบี่ยงเบนมาตราฐาน , ฐานนิยม , T - test และไคสแควร์ ผลการศึกษา พบว่า 1. ภูมิหลังทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของหมอพื้นบ้านที่มีความสัมพันธ์กับคะแนนภาวะสุขภาพจิตของผู้รับบริการหลังรับบริการ ได้แก่ เพศ , อายุ , สถานภาพสมรส , การบวชเรียน / บวชพราหมณ์ , สภาพการอ่านออก เขียนได้ , พื้นเพดั้งเดิมและระยะเวลาที่อาศัยอยู่ในบ้าน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 2. ภูมิหลังการเป็นหมอพื้นบ้านถึงปัจจุบัน ที่มีความสัมพันธ์กับคะแนนภาวะสุขภาพจิตของผู้รับบริการหลังรับบริการ ได้แก่ ระยะเวลาในการประกอบอาชีพ , แหล่งความรู้ที่ศึกษา , การศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม , การปฏิบัติตัวพิเศษ , วิธีการรักษาตนเอง และผู้รับบริการเฉลี่ยอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 3. องค์ความรู้เกี่ยวกับภูมิปัญญาของหมอพื้นบ้าน ที่มีความสัมพันธ์กับคะแนนภาวะสุขภาพจิตของผู้รับบริการหลังรับบริการ ได้แก่ การวินิจฉัยอาการหรือโรคโดยการนั่งทางใน , การรักษาอาการหรือโรคโดยสมุนไพรตำหรับ และค่าใช้จ่ายในการรักษา อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 4. ลักษณะทั่วไปของผู้รับบริการ ที่มีความสัมพันธ์กับคะแนนภาวะสุขภาพจิตของผู้รับบริการหลังรับบริการ ได้แก่ อายุ , ระยะทางจากบ้านผู้รับบริการถึงบ้านหมอพื้นบ้าน และระยะทางจากบ้านผู้รับบริการถึงสถานบริการสาธารณสุข อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05

Keywords: culture, psychiatry, จิตเวช, จิตเวชศาสตร์, ภูมิปัญญาท้องถิ่น, วัฒนธรรม

ปีที่เผยแพร่/Year: 2540

Address: ศูนย์สุขภาพจิต 1 กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

Code: 308400000001

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: นิพนธ์ต้นฉบับ

Download: -