ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: มยุรี กลับวงษ์, ประเวช ตันติพิวัฒนสกุล

ชื่อเรื่อง/Title: การพัฒนาระบบจำแนกโรคทางจิตเวชและมาตรฐานการรักษา (ICD-10 PHC) สำหรับบุคลากรสาธารณสุข

แหล่งที่มา/Source: เอกสารการวิจัย พ.ศ. 2538

รายละเอียด / Details:

การศึกษาวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาสภาพปัญหาการบริการทางจิตเวช และพัฒนาระบบจำแนกโรคทางจิตเวชและวิธีการดูแลรักษาผู้ป่วยอย่างง่ายสำหรับเจ้าหน้าที่สถานีอนามัยตำบลโดยการสัมภาษณ์กลุ่ม (Focus group discussion) เจ้าหน้าที่สถานีอนามัย เพื่อศึกษาข้อมูลพื้นฐานสภาพปัญหาจิตเวชที่พบได้บ่อยในพื้นที่ นำข้อมูลที่ได้มาปรับเนื้อหาคู่มือการดูแลรักษาที่ใช้ได้ง่ายและเหมาะสมกับการปฏิบัติงานสำหรับเจ้าหน้าที่สถานีอนามัย แล้วนำไปทดลองใช้เป็นเวลา 1 สัปดาห์ และนำมาปรับเนื้อหาตามความเหมาะสมอีกครั้งก่อนนำไปใช้เก็บข้อมูลจริงกับผู้ป่วยทุกกลุ่มอายุ ที่มารับบริการที่สถานีอนามัยด้วยปัญหาต่าง ๆ ยกเว้น ไข้ ไข้หวัด แพ้ยา บาดแผลจากอุบัติเหตุ อุจจาระร่วง มาขอใบรับรองการเจ็บป่วย จำนวน 539 คน ในเขตจังหวัดพระนครศรีอยุธยาจำนวน 20 แห่ง โดยการสุ่มพื้นที่สถานีอนามัยแบบ Multi-stage แล้วประชุมผู้วิจัยภาคสนามอีกครั้งเพื่อสรุปเนื้อหา ICD-10 PHC : ระดับสถานีอนามัย ฉบับสมบูรณ์ ผลการศึกษา สภาพปัญหาด้านการบริการทางจิตเวชในระดับสถานีอนามัย พบว่าประชาชนทุกวัยในพื้นที่ที่ไม่สามารถปรับตัวได้ทันกับความเปลี่ยนแปลงทางสังคม โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุและเด็ก มีปัญหาสุขภาพจิตต่าง ๆ กันเช่น ปัญหาครอบครัวแตกแยก ปัญหาเศรษฐกิจปัญหาติดสารเสพติด ใช้ยาม้า ดมกาว เฮโรอีน ปัญหาเด็กวัยเรียนไม่ได้เรียนหนังสือแต่ต้องทำงานปัญหาปัสสาวะรดที่นอน เด็กวัยรุ่นทำร้ายตัวเอง ส่วนผู้สูงอายุ พบว่า ประสบปัญหาถูกลูกหลานทอดทิ้ง ไม่มีใครดูแล มาที่สถานีอนามัยด้วยอาการ ปวดศีรษะ ปวดท้อง ท้องผูก แต่ตรวจแล้วไม่พบอะไร เจ้าหน้าที่สถานีอนามัยคิดว่าเป็นที่จิตใจให้ยาไปตามอาการแต่ไม่มั่นใจว่ารักษาถูกหรือไม่ ไม่แน่ใจว่าผู้ป่วยเป็นโรคทางจิตหรือทางกาย ลักษณะทางประชากรของกลุ่มตัวอย่าง พบว่า ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง คิดเป็นร้อยละ 61.0 เพศชาย คิดเป็นร้อยละ 39.0 อายุ 65 ปีขึ้นไป คิดเป็นร้อยละ 27.1 อาการสำคัญที่นำมา คือ นอนไม่หลับ คิดเป็นร้อยละ 20.9 อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย คิดเป็นร้อยละ 14.3 ปวดศรีษะ คิดเป็นร้อยละ 10.0 ส่วนใหญ่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรควิตกกังวล ร้อยละ 23.2 อาการทางกายโดยไม่มีสาเหตุ ร้อยละ 11.7 โรคอารมณ์เศร้า และปัญหานอนไม่หลับมีเท่ากัน คิดเป็นร้อยละ 9.3 อ่อนเพลียโดยไม่มีสาเหตุ ร้อยละ 9.1 ความคิดเห็นของเจ้าหน้าที่สถานีอนามัยต่อระบบจำแนกโรคทางจิตเวชและมาตรฐานการรักษาหลังจากการนำไปใช้ในการเก็บข้อมูลจริง พบว่า : - ส่วนใหญ่มีความคิดเห็นว่า บัตรโรคที่ใช้มีประโยชน์ - มีประโยชน์มาก แต่การใช้บัตรขณะเยี่ยมผู้ป่วยในชุมชนยังไม่สะดวก เนื่องจากมีผู้อื่นมาร่วมอยู่ด้วยในขณะสัมภาษณ์ แต่เชื่อว่าหากได้ใช้ประจำในสถานบริการจะจำได้และใช้ได้คล่องขึ้นและสามารถใช้ประโยชน์จากแนวทางการให้ความช่วยเหลือในบัตรโรคกับผู้ป่วยที่มีปัญหาวิตกกังวล ปัญหาอารมณ์เศร้า

Keywords: community, ICD-10, ICD-10 PHC, psychiatry, จิตเวช, จิตเวชศาสตร์, ชุมชน

ปีที่เผยแพร่/Year: 2538

Address: ส่วนวิจัยและพัฒนา สำนักพัฒนาสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

Code: 309380000002

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: นิพนธ์ต้นฉบับ

Download: -