ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: อนงค์ หิรัญรักษ์

ชื่อเรื่อง/Title: การศึกษาเปรียบเทียบคุณภาพของผลงานวิชาการกรณีศึกษาผู้ป่วยจิตเวชของพยาบาลวิชาชีพ

แหล่งที่มา/Source: เอกสารการวิจัย พ.ศ. 2539

รายละเอียด / Details:

วัตถุประสงค์ของการศึกษาครั้งนี้ เพื่อศึกษาเปรียบเทียบคุณภาพของผลงานวิชาการที่พยาบาลจิตเวชได้จัดทำการประเมินเพื่อเลื่อนระดับสูงขึ้น เนื้อหาของการศึกษาได้จากการรวบรวมข้อมูลตามแบบสอบถามที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น และความเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิ โดยใช้ผลงานทางวิชาการกรณีศึกษาผู้ป่วยที่พยาบาลจิตเวชจัดทำขึ้นและขอประเมินเลื่อนระดับ 6 และระดับ 7 อย่างละ 100 เรื่อง ซึ่งผลงานนี้ได้ผ่านการประเมินแล้วในปีงบประมาณ พ.ศ. 2539 และความเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 20 ท่าน นำผลการประเมินและความเห็นมาวิเคราะห์ตามระเบียบวิธีวิจัย เนื้อหาความสัมพันธ์และเปรียบเทียบเชิงคุณภาพด้วยโปรแกรมข้อมูลคอมพิวเตอร์ SPSS/PC* ผลการศึกษา จากกลุ่มตัวอย่างที่เป็นผลงานทางวิชาการกรณีศึกษาของพยาบาลจิตเวชหน่วยงานสังกัดกรมสุขภาพจิต ระดับ 6 และระดับ 7 จำนวนอย่างละ 100 ราย ที่ผ่านการประเมินแล้ว พบว่า 3 อันดับแรกของผลงานเป็นกรณีศึกษาอาการผู้ป่วยก้าวร้าว , ผู้ป่วยซึมเศร้า , ผู้ป่วยทำร้ายตนเอง และแยกตนเอง ตามลำดับ ส่วนใหญ่ร้อยละ 92.5 ใช้เวลาศึกษา ผู้ป่วย 1 เดือน ผลการประเมินคุณภาพของการศึกษา พบว่า ผลงานมีคุณภาพในด้านประวัติเกี่ยวกับผู้ป่วย ความชัดเจนเกี่ยวกับการวางแผนการพยาบาล การอภิปรายประเด็นปัญหาความสอดคล้องและการนำเสนอผลงาน รวมทั้งการตรวจสอบความเรียบร้อยของผลงาน และพบว่ามีความสัมพันธ์กันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยแตกต่างกันในแง่ของการนำเสนอผลงานทางวิชาการและคุณภาพของผลงานในพยาบาลวิชาชีพแต่ละระดับ การศึกษาและรวบรวมความคิดเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิ พบว่า ผู้ทรงคุณวุฒิมีความเห็นว่าผลงานเป็นกรณีศึกษาผู้ป่วยในลักษณะกลุ่มอาการเดียวกันเป็นจำนวนมาก และผลงานที่จัดทำขึ้นไม่ได้เกิดจากปัญหาในการปฏิบัติงาน หรือต้องการจะทำไปก่อให้เกิดประโยชน์ในการปฏิบัติงาน ผลงานมุ่งมั่นจัดทำเพื่อเลื่อนระดับมากกว่าการพัฒนาองค์ความรู้ ทำให้ขาดความเชื่อมโยงจากแนวคิด ทฤษฎี และความสัมพันธ์เชิงคุณภาพ ผลการอภิปรายผลขาดการวิเคราะห์ที่มีหลักการ และองค์ความรู้อย่างเป็นเหตุเป็นผล และเชื่อถือได้ ผลงานนำเสนอมุ่งเฉพาะงานในหน้าที่ที่ตนรับผิดชอบและจำกัดความคิดอยู่ในกรอบของมาตรฐานการพยาบาลโดยยึดมั่นที่จะทำให้ถูกต้องและครบถ้วน ทำให้ขาดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ เพื่อนำไปสู่การพัฒนางานและพัฒนาตนเอง ข้อเสนอแนะของผู้ทรงคุณวุฒิในการศึกษานี้ พบว่า ผู้ทรงคุณวุฒิต้องการให้คุณภาพของผลงานเด่นในแต่ละระดับ โดยมุ่งประเด็นดังตัวอย่างเช่น ผลงานของพยาบาลระดับ 6 มีประเด็นที่แสดงให้เห็นว่า ผลงานมีศักยภาพด้านความรู้ และการนำไปใช้ได้ ส่วนระดับ 7 สามารถวิเคราะห์ปัญหาด้านสาเหตุ พฤติกรรม การปฏิบัติการพยาบาล และกระบวนการพยาบาล เป็นต้น ผลงานทางวิชาการควรปรับปรุงให้เข้ากับลักษณะการปฏิบัติงานโดยมีอิสระในการคิดกิจกรรมให้พัฒนางาน พัฒนาตนเอง ถือผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางของการให้บริการ ควรให้มีกิจกรรมเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความคิดเห็นด้านบริหาร วิชาการ และบริการทางการพยาบาล ทั้งนี้นอกจากการดูแลผู้ป่วยแล้ว จะต้องคำนึงถึงทุกข์สุขเพื่อแก้ปัญหาของญาติ และความสำคัญของชุมชนด้วย

Keywords: nurse, psychiatric nursing, psychiatry, กรณีศึกษาผู้ป่วยจิตเวช, การพยาบาลจิตเวช, คุณภาพผลงานวิชาการ, พยาบาล

ปีที่เผยแพร่/Year: 2539

Address: สำนักพัฒนาสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต

Code: 309390000003

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: นิพนธ์ต้นฉบับ

Download: -