ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: ชวาลา เธียรธนู

ชื่อเรื่อง/Title: การศึกษาเปรียบเทียบทักษะทางสังคมของบุคคลปัญญาอ่อนที่ได้ฝึกอบรมในสถาบันเฉพาะกับผู้ที่ไม่เคยฝึกอบรมในสถาบันเฉพาะบุคคลปัญญาอ่อน

แหล่งที่มา/Source: เอกสารการวิจัย พ.ศ. 2537

รายละเอียด / Details:

การศึกษาวิจัยเรื่อง การศึกษาเปรียบเทียบทักษะทางสังคมของบุคคลปัญญาอ่อนที่ได้ฝึกอบรมในสถาบันเฉพาะ กับผู้ที่ไม่เคยฝึกอบรมในสถาบันเฉพาะคนปัญญาอ่อนมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาเปรียบเทียบทักษะทางสังคมของบุคคลปัญญาอ่อน ที่ได้ฝึกอบรมในโรงพยาบาลราชานุกูล กับบุคคลปัญญาอ่อนที่ไม่เคยฝึกอบรมในโรงพยาบาลราชานุกูลและเพื่อประเมินทักษะทางสังคมของบุคคลปัญญาอ่อนทั้ง 2 กลุ่ม กลุ่มตัวอย่างเป็นบุคคลปัญญาอ่อนที่ฝึกอบรมอยู่ในโรงพยาบาลราชานุกูล จำนวน 30 คน เป็นเพศชาย 15 คน เพศหญิง 15 คน และเป็นบุคคลปัญญาอ่อนที่ไม่เคยฝึกอบรมอยู่ในโรงพยาบาลราชานุกูล จำนวน 30 คน เป็นเพศชาย 15 คน เพศหญิง 15 คน โดยมีอายุ 15 ปีขึ้นไป มีระดับเชาวน์ปัญญาระหว่าง 50-70 ไม่มีความพิการอย่างอื่นร่วมด้วย ไม่มีปัญหาพฤติกรรม เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย แบบสอบถามปลายปิดและปลายเปิด ในเรื่องเกี่ยวกับภูมิหลังของบิดามารดา และของบุคคลปัญญาอ่อนทั้ง 2 กลุ่ม และแบบประเมินเกี่ยวกับ ทักษะการใช้ชีวิตประจำวันทักษะชุมชน ทักษะการสื่อความหมาย ทักษะการมีสัมพันธภาพกับผู้อื่น ทักษะการรับรู้ ทักษะด้านวิชาการ ทักษะด้านอาชีพ โดยให้เลือกคำตอบ 3 ระดับคือ ทำได้เอง, ทำได้โดยต้องช่วย, ทำไม่ได้ วิเคราะห์ข้อมูลเปรียบเทียบใช้ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน T-test ได้ผลการวิเคราะห์ดังนี้ ทักษะทางสังคมของบุคคลปัญญาอ่อนที่ฝึกอบรมอยู่ในสถาบันเฉพาะแตกต่างกับบุคคลปัญญาอ่อนที่ไม่เคยฝึกอบรมอยู่ในสถาบันเฉพาะ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 โดยค่าเฉลี่ยทักษะทางสังคมของบุคคลปัญญาอ่อนที่ไม่เคยฝึกอบรมอยู่ในสถาบันเฉพาะ ดีกว่าบุคคลปัญญาอ่อนที่ฝึกอบรมอยู่ในสถาบันเฉพาะ คือ อยู่ในเกณฑ์ทำได้เอง ความแตกต่างของค่าเฉลี่ยรายด้านของทักษะทางสังคมทั้ง 7 ด้าน พบว่า ทักษะชุมชนและทักษะการสื่อความหมายของกลุ่มตัวอย่างทั้ง 2 กลุ่มแตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 โดยค่าเฉลี่ยทักษะชุมชนและทักษะการสื่อความหมายของบุคคลปัญญาอ่อนที่ไม่ได้ฝึกอบรมอยู่ในสถาบันเฉพาะ ดีกว่าบุคคลปัญญาอ่อนที่ฝึกอบรมอยู่ในสถาบันเฉพาะและอยู่ในเกณฑ์ทำได้เอง ส่วนทักษะอีก 5 ด้านที่เหลือ คือ ทักษะการใช้ชีวิตประจำวัน ทักษะการมีสัมพันธภาพกับผู้อื่น ทักษะการรับรู้ ทักษะด้านวิชาการ ทักษะด้านอาชีพ พบว่า กลุ่มตัวอย่าง 2 กลุ่ม ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แต่ละกลุ่มทำทักษะแต่ละด้านอยู่ในเกณฑ์ ทำได้เอง ยกเว้น ทักษะด้านวิชาการ ทั้ง 2 กลุ่ม ทำได้อยู่ในเกณฑ์ต้องช่วยเหลือ

Keywords: community, mental retardation, MR, social, ชุมชน, ปัญญาอ่อน, ภาวะปัญญาอ่อน, โรคปัญญาอ่อน, สังคม

ปีที่เผยแพร่/Year: 2537

Address: โรงพยาบาลราชานุกูล กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

Code: 310370000002

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: นิพนธ์ต้นฉบับ

Download: -