ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: ดวงจันทร์ รัตนมาลัย, วารุณี เมฆอรียะ, วัชรา ลินวงศ์

ชื่อเรื่อง/Title: การศึกษาเภสัชจลนศาสตร์ของยาวาลโปรอิคแอซิดในเลือดผู้ป่วยปัญญาอ่อนในของโรงพยาบาลราชานุกูล

แหล่งที่มา/Source: เอกสารการวิจัย พ.ศ. 2541

รายละเอียด / Details:

เนื่องจากผู้ป่วยปัญญาอ่อนมักจะมีการชักร่วมด้วยทำให้ต้องใช้ยาป้องกันและรักษาอาการชัก ซึ่งการรักษาต้องใช้เวลานานกว่าจะปรากฎผล การบริหารยาในระยะเวลานานนั้นย่อมจะให้ระดับยาถึง Steady state ดังนั้นจึงมีความสนใจที่จะวัดระดับของยาป้องกันและรักษาอาการชักในผู้ป่วยเหล่านี้ เพื่อใช้ในการทำนายประสิทธิผลในการรักษาและเป็นการหาแนวทางในการควบคุมระดับยาให้อยู่ในช่วงรักษา (Therapeutic range) จากการทดลองผู้ป่วยปัญญาอ่อนในการดูแลของโรงพยาบาลราชานุกูล จำนวน 6 คนได้รับยาวาลโปรอิคแอซิดในขนาดที่เหมาะสมในแต่ละคนตามแพทย์สั่ง ได้ทำการเจาะเลือดผู้ป่วยจุดแรกก่อนรับประทานอาหารและบริการยาในขนาดถัดไป เพื่อดูความเข้มข้นของยาเริ่มต้น หลังจากบริหารยาแล้วได้ทำการเจาะเลือดอีก 4 จุด โดยเริ่มที่ 2 ชั่วโมงหลังบริหารยาและเจาะจุดที่เหลือห่างกันทุก 2 ชั่วโมง ค่าปริมาณยารวม (Total Valproic Acid Concentration) ในพลาสมานั้นได้ส่งไปตรวจด้วยวิธี Fluorescence Polarization lmmunoassay โดยใช้เครื่องมือ TDX ที่แผนกพิษวิทยาโรงพยาบาลรามาธิบดี นอกจากนี้ยังได้ตรวจการทำงานของตับ ไต ของผู้ป่วย ค่าความเข้มข้นของยาในพลาสมานำมาทำการวิเคราะห์โดยใช้โปรแกรม MULTI อาศัยหลักการของ Nonlinear least square ได้เปรียบเทียบการวิเคราะห์ด้วย 2 วิธี คือ Simplex และ Dumping Gauss Newton จากการทดลองพบว่าผู้ป่วยทุกรายมีการทำงานของตับและไตเป็นปกติ การคำนวณค่าพารามิเตอร์ทางเภสัชจลนศาสตร์โดยอาศัยค่าของประชากรเป็นสูตรคำนวณที่อาศัยน้ำหนักของผู้ป่วยและมาจากประชากรของชาวต่างชาติ ไม่สามารถอธิบายความเข้มข้นของยาในพลาสมาของผู้ป่วยได้ดี เนื่องจากค่าที่ได้จากการวิเคราะห์ด้วยวิธี Nonlinear least square นั้นต่างจากค่าที่ได้จากการคำนวณโดยอาศัยค่าของประชากร นอกจากนี้ยังพบว่าจำเป็นจะต้องเพิ่มพารามิเตอร์ของระยะเวลาที่จะเริ่มมีการดูดซึม (t lag) ในผู้ป่วยที่ได้รับยาในรูป Enteric coated จึงจะอธิบาย Time course ของความเข้มข้นของยาในพลาสมาได้ จากการวิเคราะห์พบว่าวิธี Simplex จะให้ค่าความเข้มข้นของยาในพลาสมาใกล้เคียงกับค่าที่วัดได้ในผู้ป่วยทุกราย ค่าคงที่ของการดูดซึมยา (ka) อยู่ระหว่าง 0.119 - 5.98 ต่อชั่วโมง ค่าคงที่ของการกำจัดยา (k) อยู่ระหว่าง 0.023 - 0.303 ต่อชั่วโมง ค่าเวลาครึ่งชีวิตอยู่ระหว่าง 2.30 - 30.1 ชั่วโมง และ ค่าปริมาตรการกระจายอยู่ระหว่าง 4.36 - 78.8 ลิตร จากการคำนวณพบว่าค่า Total clearance ในผู้ป่วยอยู่ระหว่าง 0.488 - 8.43 ลิตรต่อชั่วโมง จากค่าพารามิเตอร์ของผู้ป่วยที่ 2 และ 4 นั้นมีค่าปริมาตรการกระจายสูงซึ่งอาจจะมาจากปฏิสัมพันธ์ระหว่างยาวาลโปรอิคแอซิดกับ Phenobarbital และหรือ Phenytoin เมื่อคำนวณหาระดับยาสุงสุด (Cmax,ss) และ ต่ำสุด (Cmin,ss) พบว่าผู้ป่วยทุกรายมีระดับยาอยู่ในช่วงของการรักษา (50 - 100 mg/L) ยกเว้นผู้ป่วยคนที่ 3 ที่ค่าทั้งสองต่ำกว่าค่าระดับการรักษาซึ่งน่าจะติดตามผลการรักษาในผู้ป่วยรายนี้ อย่างไรก็ตามการวัดระดับยาด้วยวิธี TDX นี้เป็นการวัดระดับยารวม (Total drug concentration) ซึ่งในประเทศไทยยังไม่มีการวัดระดับยาอิสระ (Free drug concentration) มีรายงานว่าการวัดระดับยาอิสระของยาวาลโปรอิคแอซิดนั้นจะมีความสัมพันธ์กับผลในการรักษา โดยสรุป การศึกษานี้แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล (Interindividual difference) อันได้แก่ ปัจจัยทางสรีวิทยา ปฏิสัมพันธ์ระหว่างยาที่ได้รับประทานร่วมกันทำให้ค่าพารามิเตอร์ทางเภสัชจลนศาสตร์ต่างกัน ซึ่งส่งผลให้ระดับความเข้มข้นของยาในพลาสมาในแต่ละคนต่างกัน การปรับขนาดยาให้เหมาะสมในผู้ป่วยแต่ละคนโดยอาศัยหลักการของเภสัชจลนศาสตร์เป็นสิ่งจำเป็นและควรนำมาประยุกต์ใช้ต่อไป

Keywords: drug, mental retardation, pharmacy, valproic acid, MR, ปัญญาอ่อน, ภาวะปัญญาอ่อน, เภสัชกรรม, ยา, โรคปัญญาอ่อน

ปีที่เผยแพร่/Year: 2541

Address: โรงพยาบาลราชานุกูล กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

Code: 310410000004

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: นิพนธ์ต้นฉบับ

Download: -