ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: โรงพยาบาลราชานุกูล, โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์, โรงพยาบาลสวนสราญรมย์, โรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมา, โรงพยาบาลยุวประสาทไวทโยปถัมภ์, ศูนย์ส่งเสริมพัฒนาการเด็กภาคเหนือ

ชื่อเรื่อง/Title: การเปรียบเทียบผลการจัดหอผู้ป่วยต่อบริการทางจิตเวชในสถานบริการสุขภาพจิตและจิตเวช กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

แหล่งที่มา/Source: เอกสารการวิจัยเรื่อง การเปรียบเทียบผลการจัดหอผู้ป่วยต่อบริการทางจิตเวชในสถานบริการสุขภาพจิตและจิตเวช กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข , พ.ศ. 2542

รายละเอียด / Details:

การศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษารูปแบบการจัดหอผู้ป่วยในสถานการณ์จริง และเปรียบเทียบผลของการจัดหอผู้ป่วยต่อบริการสุขภาพจิตและจิตเวช เพื่อหาแนวทางพัฒนางานที่เหมาะสมในสถานบริการสุขภาพจิตและจิตเวช กรมสุขภาพจิต กลุ่มตัวอย่าง เป็นหัวหน้ากลุ่มงานการพยาบาลที่มีบริการผู้ป่วยจำนวน 12 คน บุคลากรทางการพยาบาลที่ปฏิบัติงานในหอผู้ป่วยที่มีบริการสุขภาพจิตและจิตเวช จำนวน 948 คน และทีมจิตเวช 95 คน จากการสุ่ม เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล มีแบบสัมภาษณ์และแบบสอบถามที่คณะวิจัยสร้างขึ้น มีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ .93 การวิเคราะห์ข้อมูลวิเคราะห์เชิงคุณภาพด้วยวิธีการสรุปประเด็นเสนอในรูปข้อเท็จจริงจากกลุ่มประชากร วิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณด้วยการใช้โปรแกรมสำเร็จรูป SPSS/PC* ผลการศึกษาพบว่า 1. ด้านการจัดหอผู้ป่วย สถานบริการสุขภาพจิตและจิตเวช กรมสุขภาพจิต ทั้ง 12 แห่ง มีการจัดหอผู้ป่วยแบบแยกประเภท 1 แห่ง โดยทั้ง 2 ประเภท มีการจำแนกประเภทผู้ป่วยออกเป็น 3 กลุ่ม คือ หอผู้ป่วยแบบแรกรับบำบัด หอผู้ป่วยแบบเร่งรัดบำบัด และหอผู้ป่วยแบบบำบัดระยะยาว 2. การจัดระบบปฏิบัติบริการพยาบาลและการรักษา พบว่า ข้อดีของการจัดหอผู้ป่วยแบบแยกประเภท คือ สามารถวางแผนการเตรียมหอผู้ป่วย อุปกรณ์ บุคลากร ได้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละประเภทสามารถจัดกิจกรรมได้ง่าย ผู้ป่วยมีสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน ญาติพึงพอใจในความปลอดภัยและบุคลากรเกิดความชำนาญเฉพาะทาง ขณะที่การจัดหอผู้ป่วยแบบรวมประเภท มีข้อดีในด้านผู้ป่วยได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่องทำให้เข้าใจปัญหาและความต้องการ ตลอดจนการปรับตัวของผู้ป่วย บุคลากรมีการพัฒนาทักษะการดูแลผู้ป่วยทุกประเภท สามารถติดตามผลอย่างต่อเนื่อง ลดปริมาณงานที่เกิดจากการย้ายผู้ป่วย ข้อเสียของการจัดหอ ระเบียบต่าง ๆ ผู้ป่วยมีการปรับตัวตลอดเวลากับบุคคล สถานที่ ญาติเกิดความสับสน ขาดความต่อเนื่องในการรักษาพยาบาล ขณะที่ข้อเสียของการจัดหอแบบรวมประเภทคือ การจัดกิจกรรมการพยาบาลเหมาะสมยาก บุคลากรดูแลผู้ป่วยไม่ทั่วถึง ผู้ป่วยเกิดภาวะติดสถานที่และบุคคล ญาติวิตกกังวลกลัวผู้ป่วยอื่นที่มีพฤติกรรมก้าวร้าวทำร้าย 3. ทีมจิตเวช มีความเห็นเกี่ยวกับการจัดหอผู้ป่วยแบบแยกประเภทว่า มีความเป็นสัดส่วนสะดวกต่อการบำบัดรักษา สามารถจัดโปรแกรมได้ง่าย พัฒนาความชำนาญมากขึ้น และมีความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดหอผู้ป่วยแบบรวมประเภทว่า สะดวกในการดูแลรักษา ทำให้เกิดการเรียนรู้พฤติกรรมจากผู้ป่วยด้วยกันเกิดสัมพันธภาพที่ดีระหว่างญาติและบุคลากร 4. การบริการสุขภาพจิตและจิตเวชของบุคลากรทางการพยาบาล และพยาบาลวิชาชีพ พบว่า มีการปฏิบัติบริการทางจิตเวชด้านปฏิบัติการพยาบาล ด้านปฏิบัติการรักษา และด้านการจัดการทางการพยาบาลไม่แตกต่างกันอย่างเชื่อมั่นได้ การปฏิบัติบริการทางการพยาบาลของบุคลากรทางการพยาบาลและพยาบาลวิชาชีพในหอผู้ป่วยทั้งสามด้าน จำแนกตามกิจกรรม พบว่า 4.1 ประเภทการจัดหอผู้ป่วยแบบรวมประเภทมีการปฏิบัติบริการสูงกว่าการจัดหอผู้ป่วยแบบแยกประเภท คือกิจกรรมการมีปฏิสัมพันธ์เพื่อการบำบัด การบันทึกอาการเปลี่ยนแปลง การประเมินสภาพผู้ป่วยอย่างถูกต้อง การประชุมปรึกษาร่วมกันในการวางแผนการพยาบาล การจัดลำดับความสำคัญของปัญหาและความต้องการของผู้ป่วยในการวางแผนช่วยเหลือได้สะดวกและถูกต้องอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 4.2 ประเภทการจัดหอผู้ป่วยแบบแยกประเภท มีการปฏิบัติบริการสูงกว่าประเภทการจัดหอผู้ป่วยแบบรวมประเภท คือ สังเกตอาการผู้ป่วยได้อย่างใกล้ชิด การดูแลสุขภาพอนามัย การทำกลุ่มสามารถดำเนินได้ตามกระบวนการ สถานที่เป็นสัดส่วนเหมาะสมในการตรวจและรักษาเฉพาะทาง การจัดจำนวนและประเภทบุคลากรแต่ละเวรได้เหมาะสม และมีการเสนอความต้องการเครื่องมือใช้กับผู้บริหารอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05

Keywords: บริการ, service

ปีที่เผยแพร่/Year: 2542

Address: โรงพยาบาลราชานุกูล กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

Code: 310420000009

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: นิพนธ์ต้นฉบับ

Download: -