ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: ชนิสา เวชวิรุฬห์, ยุวดี กิติคุณ, ศรีวันเพ็ญ ชินวงศ์

ชื่อเรื่อง/Title: ความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการคัดกรองภาวะปัญญาอ่อนระดับชุมชน

แหล่งที่มา/Source: เอกสารการวิจัยเรื่อง ความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการคัดกรองภาวะปัญญาอ่อนระดับชุมชน , พ.ศ. 2542

รายละเอียด / Details:

การศึกษาความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการคัดกรองภาวะปัญญาอ่อนระดับชุมชน วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับภาวะปัญญาอ่อน การตรวจคัดกรองภาวะปัญญาอ่อน และบุคคลที่เหมาะสมจะทำการคัดกรองภาวะปัญญาอ่อน รวมทั้งศึกษารูปแบบของแบบคัดกรองภาวะปัญญาอ่อนระดับชุมชนที่อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านต้องการ ทั้งนี้เพื่อใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการดำเนินการสร้างแบบคัดกรองภาวะปัญญาอ่อนระดับชุมชนต่อไป วิธีการ กลุ่มตัวอย่างคือ ประชาชน ตำบลแม่ริมเหนือ อำเภอแม่ริมและตำบลแม่แตง อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 40 คน ประกอบด้วยประชาชนทั่วไปจำนวน 19 คน ผู้นำชุมชนจำนวน 8 คน และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านจำนวน 13 คน โดยการสุ่มตัวอย่างแบบเฉพาะเจาะจง การเก็บข้อมูลใช้วิธีการสนทนากลุ่ม แบ่งตามประเภทของกลุ่ม กลุ่มละไม่เกิน 10 คน การวิเคราะห์ข้อมูล นำข้อมูลที่บันทึกการสนทนากลุ่มมาวิเคราะห์ผลเชิงบรรยาย ผลการศึกษาพบว่า ประชาชนมีความเข้าใจเกี่ยวกับลักษณะของผู้ที่มีภาวะปัญญาอ่อน และสามารถแยกแยะบุคคลที่มีภาวะปัญญาอ่อนได้ ถ้าบุคคลนั้นมีภาวะปัญญาอ่อนระดับปานกลางหรือระดับรุนแรงมาก ส่วนบุคคลที่มีภาวะปัญญาอ่อนระดับน้อย ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่สามารถแยกได้จากบุคคลที่มีสติปัญญาทึบ หรือบุคคลที่มีความล่าช้าในการเรียนเนื่องจากสาเหตุอื่น และจากการศึกษาครั้งนี้พบว่า ประชาชนตระหนักถึงความจำเป็นในการค้นหาบุคคลที่มีภาวะปัญญาอ่อนตั้งแต่ยังเล็ก เนื่องจากเห็นความสำคัญในการช่วยเหลือเด็กตั้งแต่แรกเริ่ม ส่วนการให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน เป็นผู้ใช้แบบคัดกรองภาวะปัญญาอ่อน โดยประชาชนยอมรับและอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านควรต้องได้รับการฝึกอบรมก่อนนำไปใช้ และแบบคัดกรองภาวะปัญญาอ่อนต้องมีความสะดวกและง่ายในการใช้ นั่นคือ จำนวนข้อไม่เกิน 20 ข้อ มีภาพถ่ายประกอบ สามารถตรวจสอบภาวะปัญญาอ่อนโดยการสัมภาษณ์พ่อแม่และการสังเกต สิ่งที่ตรวจควรเป็นการเช็คว่าทำได้หรือไม่ได้ แบบคัดกรองภาวะปัญญาอ่อนควรมีคำแนะนำวิธีการใช้ และวิธีการสอนเพื่อส่งเสริมพัฒนาการอยู่ในเล่มเดียวกัน สรุป การสร้างแบบคัดกรองภาวะปัญญาอ่อนระดับชุมชนเป็นสิ่งควรกระทำ แต่ต้องมีรูปแบบที่ง่ายและสะดวกสำหรับให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านใช้ ข้อเสนอแนะ การสร้างแบบคัดกรองควรสร้างให้สามารถคัดกรองกลุ่มที่มีภาวะปัญญาอ่อนระดับน้อยได้ และควรเป็นการคัดกรองเพื่อบ่งชี้ว่า สงสัยมีภาวะปัญญาอ่อน และส่งต่อผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางเพื่อตรวจวินิจฉัยยืนยัน โดยเฉพาะรายที่มีลักษณะและพฤติกรรมใกล้เคียงกับเด็กปกติ

Keywords: ปัญญาอ่อน, ชุมชน, เด็ก, เด็กปัญญาอ่อน, child, MR, mental retardation

ปีที่เผยแพร่/Year: 2542

Address: โรงพยาบาลราชานุกูล กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

Code: 310420000010

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: นิพนธ์ต้นฉบับ

Download: -