ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: ชวาลา เธียรธนู, ปัญญา เพ็ญสุวรรณ, กัลยา ว่องวาณิช, ชนิสา เวชวิรุฬห์, ศุภรพรรณ, ยุวดี กิติคุณ, รัชตะ รัชตะนาวิน, นิตยา คชภักดี, ราเมศร์ วัชรสินธุ์, ลออ ชัยลือกิจ, มันทนา ประทีปะเสน

ชื่อเรื่อง/Title: การศึกษาวันวิกฤตของเด็กไทยที่ขาดสารไอโอดีนในแง่สติปัญญา พฤติกรรมการปรับตนและแนวทางแก้ไข

แหล่งที่มา/Source: เอกสารการวิจัยเรื่อง การศึกษาวันวิกฤตของเด็กไทยที่ขาดสารไอโอดีนในแง่สติปัญญา พฤติกรรมการปรับตนและแนวทางแก้ไข, พ.ศ. 2542

รายละเอียด / Details:

การศึกษาวันวิกฤตของเด็กไทยที่ขาดสารไอโอดีนในแง่สติปัญญา พฤติกรรมการปรับตนและแนวทางแก้ไข วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาเชาว์ปัญญา (IQ) และ/หรือพฤติกรรมการปรับตน (Adaptive Behavior) ของเด็กที่อยู่ในพื้นที่ขาดสารไอโอดีนต่างระดับความรุนแรง และศึกษาว่าการเสริมสารไอโอดีนแก่มารดาขณะตั้งครรภ์/ก่อนตั้งครรภ์ เด็กวัยทารก เด็กก่อนวัยเรียน และเด็กวัยเรียนที่อยู่ในพื้นที่ขาดสารไอโอดีน จะมีผลช่วยให้ระดับเชาว์ปัญญาและ/หรือพฤติกรรมการปรับตนดีขึ้นหรือไม่ วิธีการ ศึกษาเด็กในพื้นที่ของจังหวัดภาคเหนือ หลังจากโครงการเสริมไอโอดีนเข้าไปดำเนินการแล้ว เป็นเวลา 5-6 ปี กลุ่มตัวอย่าง 436 คน แยกศึกษาตามความรุนแรงของพื้นที่ขาดสารไอโอดีน ก่อนโครงการเสริมสารไอโอดีนดำเนินการ คือ ขาดสารไอโอดีนระดับน้อยในจังหวัดกำแพงเพชรและพิษณุโลก (287 คน) และขาดสารไอโอดีนระดับรุนแรงในจังหวัดแพร่ (149 คน) แต่ละพื้นที่แยกศึกษาตามกลุ่มอายุ คือ แรกเกิด-2.5 ปี และ >2.5-5 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มเด็กที่เกิดในช่วงที่โครงการเสริมสารไอโอดีนกำลังดำเนินการ จึงได้รับการเสริมสารไอโอดีน ตั้งแต่เป็นทารกอยู่ในครรภ์มารดา และอายุ 6-12 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มเด็กที่เกิดก่อนโครงการเสริมสารไอโอดีนเข้าไปดำเนินการ จึงไม่ได้รับการเสริมสารไอโอดีนขณะเป็นทารกอยู่ในครรภ์มารดา แต่ได้รับการเสริมสารไอโอดีนหลังคลอด คือ ในวัยทารก/วัยก่อนเรียน/วัยเรียน เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา คือ แบบทดสอบเชาว์ปัญญา Stanford Binet Form L-M และ WISC แบบวัดพฤติกรรมการปรับตน และแบบทดสอบ VMI ผลการศึกษา เด็กอายุแรกเกิด-2.5 ปี กลุ่มที่ได้รับการเสริมไอโอดีนขณะเป็นทารกอยู่ในครรภ์มารดา เนื่องจากมารดาได้รับการเสริมสารไอโอดีนตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ ทั้งที่อยู่ในพื้นที่ขาดสารไอโอดีนน้อยและรุนแรง มีคะแนนเฉลี่ยพฤติกรรมการปรับตนอยู่ในเกณฑ์ และไม่พบคะแนนที่อยู่ในเกณฑ์ต่ำ (คะแนน ‹ 70) ส่วนเด็กอายุ >2.5-5 ปี กลุ่มที่ได้รับการเสริมสารไอโอดีนขณะเป็นทารกอยู่ในครรภ์มารดา เนื่องจากมารดาบางส่วนได้รับการเสริมสารไอโอดีนระหว่างตั้งครรภ์ ทั้งที่อยู่ในพื้นที่ขาดสารไอโอดีนน้อยและรุนแรง มีคะแนนเฉลี่ยเชาว์ปัญญาอยู่ในเกณฑ์เดียวกัน แม่กลุ่มที่อยู่ในพื้นที่ขาดสารไอโอดีนรุนแรงจะมีคะแนนเฉลี่ยเชาว์ปัญญาต่ำกว่า (p=.001)เด็กอายุ 6-12 ปี กลุ่มที่ไม่ได้รับการเสริมสารไอโอดีนขณะเป็นทารกอยู่ในครรภ์มารดา แต่ได้รับการเสริมสารไอโอดีนหลังคลอด ที่อยู่ในพื้นที่ขาดสารไอโอดีนรุนแรง พบว่า มีคะแนนเฉลี่ยเชาว์ปัญญาอยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่าเด็กที่อยู่ในพื้นที่ขาดสารไอโอดีนน้อย อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < .001) และพบคะแนนที่อยู่ในเกณฑ์คาบเส้นปัญญาอ่อนและต่ำกว่า (IQ < 80) ในเด็กที่อยู่ในพื้นที่ขาดสารไอโอดีนรุนแรงและน้อยร้อยละ 34 และร้อยละ 8 ตามลำดับ ส่วนคะแนน VMI ของเด็กกลุ่มนี้ในทั้งสองพื้นที่ไม่แตกต่างกัน และจากการสำรวจ พบว่า อัตราคอพอกในเด็กวัยเรียนของจังหวัดพิษณุโลกและแพร่ลดลง แต่ยังไม่เข้าสู่เกณฑ์ปกติตามเกณฑ์ของ WHO ค่ามัธยฐานของปริมาณไอโอดีนในปัสสาวะสูงขึ้นสู่เกณฑ์ปกติ ส่วนจังหวัดกำแพงเพชร อัตราคอพอกเพิ่มสูงขึ้น และค่ามัธยฐานปริมาณไอโอดีนในปัสสาวะยังไม่อยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่ปริมาณ Free T4 และ TSH ในเซรั่มของทั้งสามพื้นที่ศึกษาอยู่ในเกณฑ์ใกล้เคียงกัน และไม่มีความแตกต่างกัน ซึ่งอาจเป็นผลของการรณรงค์ควบคุมโรคขาดสารไอโอดีนในทั้งสามบริเวณ สรุป วัยวิกฤตที่ได้รับผลกระทบจากการอยู่ในพื้นที่ขาดสารไอโอดีน คือ ช่วงที่ทารกอยู่ในครรภ์มารดา ซึ่งหากทารกขาดสารไอโอดีนตั้งแต่อยู่ในครรภ์ มารดาจะมีผลกระทบต่อเชาว์ปัญญาของทารก ซึ่งแม้ต่อมาจะได้รับการเสริมสารไอโอดีนหลังคลอด ก็ไม่สามารถทำให้เชาว์ปัญญาดีขึ้นเท่าเกณฑ์ปกติ โดยเฉพาะกลุ่มที่อยู่ในพื้นที่ขาดสารไอโอดีนรุนแรง และการเสริมสารไอโอดีนแก่มารดาตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ มีผลทำให้พฤติกรรมการปรับตนของเด็กในพื้นที่ขาดสารไอโอดีนน้อยและรุนแรง อยู่ในเกณฑ์ปกติ แนวทางแก้ไข การดำเนินโครงการรณรงค์ขจัดโรคขาดสารไอโอดีนแห่งชาติ ควรเน้นที่หญิงวัยเจริญพันธ์และหญิงมีครรภ์เป็นเป้าหมายสำคัญ และหญิงมีครรภ์ต้องได้รับสารไอโอดีนอย่างเพียงพอตลอดระยะเวลาตั้งครรภ์ เพื่อให้พัฒนาการของสมองเด็กในครรภ์เป็นไปอย่างปกติ

Keywords: เด็ก, จิตเวชเด็ก, child, child psychiatry

ปีที่เผยแพร่/Year: 2542

Address: โรงพยาบาลราชานุกูล กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข:คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี:คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Code: 310420000011

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: นิพนธ์ต้นฉบับ

Download: -