ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: กฤษฎา ชลวิริยะกุล, นิวัติ เอี่ยมเที่ยง, กรรณิการ์ วุฒิพงษ์วรโชค

ชื่อเรื่อง/Title: ความเครียดของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายในจังหวัดชัยนาท

แหล่งที่มา/Source: เอกสารการวิจัย,พ.ศ. 2539

รายละเอียด / Details:

การศึกษาเรื่องความเครียดของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายในจังหวัดชัยนาท มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาระดับความเครียดของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายในจังหวัดชัยนาท ศึกษาระดับความสัมพันธ์ของความเครียดกับเพศ ลำดับการเกิด อายุ ประเภทที่อยู่อาศัย ระดับการศึกษา และค่าใช้จ่ายต่อเดือน ความรู้เมื่อเปรียบเทียบกับโรงเรียนใหญ่ ๆ ความคาดหวังจากบิดา-มารดา หรือครู การเงินและสถานที่ตั้งของมหาวิทยาลัยที่ต้องการเข้าศึกษาอยู่ไกลจากภูมิลำเนา และเพื่อเป็นการกำหนดแนวทางในการป้องกันความเครียด โดยกลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ที่ศึกษาอยู่ในโรงเรียนมัธยมศึกษาในเขตจังหวัดชัยนาท ที่มีเลขที่เลขคู่ในแต่ละชั้น รวม 40% จำนวน 952 คน จากจำนวนทั้งสิ้น 2,447 คน วิธีการศึกษาใช้แบบสอบถามที่ประยุกต์มาจากแบบทดสอบ CMI ซึ่งดัดแปลงโดย เทพวัลย์ สุชาติและแบบสอบถามที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นเอง ทำการวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้วิธีหาค่าความถี่ แล้วแสดงเป็นร้อยละ ของข้อมูลค่าเฉลี่ย และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน ซึ่งเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างกลุ่มโดยใช้วิธี t-test และ Anova ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มตัวอย่างที่มีความเครียดสูงซึ่งมีความเสี่ยงต่อการมีปัญหาสุขภาพจิต หรือมีปัญหาสุขภาพจิตบ้างแล้ว จำนวน 15 คน คิดเป็นร้อยละ 1.5 มีความเครียดสูงจำนวน 106 คน คิดเป็นร้อยละ 11.1 ความแตกต่างในเรื่องเพศมีผลต่อความเครียด ส่วนความแตกต่างในเรื่องลำดับการเกิด อายุ สถานที่อยู่อาศัย ระดับการศึกษา และค่าใช้จ่ายต่อเดือนไม่มีผลต่อความเครียด และปัจจัยที่มีผลต่อการสอบเข้ามหาวิทยาลัยของรัฐบาล มีความสำคัญมากน้อยดังนี้ 1. อิทธิพลจากเพื่อน 2. การเงินหรือค่าใช้จ่าย 3. ความรู้เมื่อเปรียบเทียบกับโรงเรียนใหญ่ ๆ 4. ความคาดหวังจากครู-อาจารย์ หรือทางโรงเรียน 5. ความคาดหวังจากผู้ปกครอง 6. สภาพที่ตั้งของมหาวิทยาลัยอยู่ใกล้จากภูมิลำเนา สำหรับการคลายเครียดของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายที่ใช้กันเพื่อช่วยลดความเครียดให้กับตนเอง พบว่า นักเรียนได้ใช้วิธีต่าง ๆ มากน้อยตามลำดับดังนี้ การฟังเพลง ร้องเพลง การพยายามทำใจให้สบาย ปรับตัวเอง การเล่นกีฬา ออกกำลังกาย การแก้ไขปัญหาจากสาเหตุ การดูโทรทัศน์และวีดีโอ อ่านหนังสือ คุยกับเพื่อน อ่านหนังสือพิมพ์ และการ์ตูน การนอน ทำงานบ้าน ปรึกษาผู้รู้ไปเที่ยวและอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม ความเครียดของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายนั้น เกิดจากหลายสาเหตุ พ่อแม่ ผู้ปกครอง ครู และสังคม ควรมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือ ให้การป้องกัน และแก้ไขปัญหาความเครียดที่เกิดขึ้นในเด็กมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยพ่อแม่ผู้ปกครอง ครู ไม่สร้างความกดดันโดยมิได้ตั้งใจจากการคาดหวังบุตรหลาน และลูกศิษย์จนเกินไป โดยเฉพาะเรื่องการเรียน และการสอบเข้ามหาวิทยาลัย แต่ควรให้กำลังใจ เป็นเพื่อนคู่คิด และช่วยแก้ปัญหา ตลอดจนชี้แนะแนวทางชีวิตและการศึกษาที่เหมาะสมให้ ในส่วนของสังคม สถาบันการศึกษาควรมีการร่วมมือประสานงานกันเป็นเครือข่าย เพื่อช่วยเหลือเด็กที่กำลังเรียนอยู่ในชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายทั่วประเทศให้ได้รับข้อมูลข่าวสาร และโอกาสเท่าเทียมกัน ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ นอกจากนี้ตัวนักเรียนเองควรได้รับความรู้และวิธีปฏิบัติ เพื่อการเตรียมตัวในด้านสุขภาพร่างกายและจิตใจ มีการวางแผนการเรียนที่ดีมาตั้งแต่เนิ่น ๆ และเรียนรู้วิธีคลายเครียดให้กับตนเองที่ ง่าย ๆ เมื่อเกิดภาวะเครียด คือ การผ่อนลมหายใจเข้า ออก ช้าๆ จนสุด ทำหลาย ๆ ครั้ง ก่อนอ่านหนังสือ หรือก่อนเข้าห้องสอบ ก็จะช่วยลดความวิตกกังวลความตื่นเต้น และเรียกสมาธิกลับมาได้ดีวิธีหนึ่ง

Keywords: CMI, psychiatry, stress, ความเครียด, เครียด, จิตเวช, จิตเวชศาสตร์, นักเรียน, โรงเรียน, วัยรุ่น

ปีที่เผยแพร่/Year: 2539

Address: ศูนย์สุขภาพจิตชัยนาท กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

Code: 311390000003

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: นิพนธ์ต้นฉบับ

Download: -