ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: นิภาภรณ์ บุณยประวิตร, ประทิน ชงัดเวช, ชรินทร์ ลิ้มสนธิกุล

ชื่อเรื่อง/Title: ศึกษาการปฏิบัติงานสังคมสงเคราะห์จิตเวชในหน่วยงานสังกัดกองสุขภาพจิต

แหล่งที่มา/Source: เอกสารการวิจัย พ.ศ. 2530

รายละเอียด / Details:

การวิจัยเรื่องนี้มีวัตถุประสงค์ 1. เพื่อศึกษาโครงสร้างการแบ่งงานภายในและอัตรากำลังที่ปฏิบัติงานจริงของฝ่ายสังคมสงเคราะห์ในหน่วยงานสังกัดกองสุขภาพจิต 2. เพื่อจะได้ทราบลักษณะการปฏิบัติงานด้านบริหาร บริการและวิชาการของฝ่ายสังคมสงเคราะห์ในหน่วยงานสังกัดกองสุขภาพจิต 3. เพื่อจะได้ทราบปัญหาอุปสรรค ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเพื่อเป็นแนวทางในการปรับปรุงและพัฒนางานของฝ่ายสังคมสงเคราะห์ในหน่วยงานสังกัดกองสุขภาพจิต 4. เพื่อเป็นแนวทางในการวางแผนและกำหนดนโยบายการปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทำการศึกษาโดยวิธีการวิจัยเชิงสำรวจ กลุ่มตัวอย่างได้แก่ นักสังคมสงเคราะห์ของฝ่ายสังคมสงเคราะห์ จำนวน 40 คน ในหน่วยงานสังกัดกองสุขภาพจิต จำนวน 11 แห่ง เครื่องมือของการวิจัย คือ แบบสอบถามที่คณะผู้วิจัยสร้างขึ้น ซึ่งครอบคลุมเนื้อหาด้านบริการ บริการ วิชาการ ทัศนคติ ปัญหาอุปสรรคและแนวทางแก้ไขวิเคราะห์ข้อมูล โดยเครื่องคอมพิวเตอร์เป็นค่าทางสถิติ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และ CHI - SQUARE เสนอผลการศึกษาโดยการจัดพิมพ์เป็นรูปเล่มเพื่อเผยแพร่ ผลการศึกษาพบว่า นักสังคมสงเคราะห์จำนวนมากที่สุด เป็นนักสังคมสงเคราะห์ระดับ 5 อยู่ในช่วงอายุ 40-49 ปี มีสถานภาพการสมรสคู่ และจบการศึกษาระดับปริญญาตรี จากการศึกษาข้อมูลด้านบริหารพบว่า การแบ่งส่วนราชการในฝ่ายสังคมสงเคราะห์จำนวนมากที่สุดแบ่งส่วนราชการของฝ่ายเป็นสามงาน คือ งานบำบัด งานบริการสังคมสงเคราะห์ และงานบริการสังคมสงเคราะห์ชุมชน การศึกษาข้อมูลด้านบริการ พบว่ารูปแบบการปฏิบัติงานเกี่ยวกับผู้ป่วยนอกใหม่ มีสามขั้นตอนตามลำดับ คือ หนึ่งผู้ป่วยติดต่อห้องทำบัตรเพื่อทำบัตรประจำตัวผู้ป่วย สอง ไปพบนักสังคมสงเคราะห์เพื่อให้ประวัติและข้อมูลทางสังคมที่เป็นสาเหตุของอาการเจ็บป่วย สามไปพบแพทย์เพื่อรับบริการตรวจและบำบัดรักษา รูปแบบการปฏิบัติงานเกี่ยวกับผู้ป่วยนอกเก่า มีสามขั้นตอนตามลำดับ คือ หนึ่ง ผู้ป่วยติดต่อขอรับบัตรประจำตัวผู้ป่วยและบันทึกการรักษา สองไปพบแพทย์เพื่อรับบริการตรวจและบำบัดรักษา สาม ไปพบนักสังคมสงเคราะห์เพื่อรับบริการบำบัดด้านสังคมและจิตใจ ตลอดจนบริการทางสังคมสงเคราะห์ รูปแบบการปฏิบัติงานเกี่ยวกับผู้ป่วยใน มี 2 ขั้นตอนตามลำดับคือ หนึ่งผู้ป่วยที่อยู่ในหอผู้ป่วยได้รับการดูแลจากพยาบาลประจำหอผู้ป่วย สอง แพทย์จะให้บริการวินิจฉัยและบำบัดรักษาโดยมีนักสังคมเคราะห์ นักจิตวิทยา พยาบาลและอื่น ๆ มีบทบาทร่วมกัน การศึกษาเกี่ยวกับข้อมูลด้านวิชาการพบว่า จำนวนมากที่สุดร้อยละ 85 เคยได้รับการอบรมด้านสุขภาพจิต การปฏิบัติงานด้านวิชาการประกอบด้วยกิจกรรมการประชุมสัมมนาฝึกอบรม ผลิตเอกสารทางวิชาการ Journal Club, Case Conference และการศึกษาค้นคว้าวิจัย และมีความต้องการเพิ่มพูนความรู้เกี่ยวกับการวิจัยและการสาธารณสุขมูลฐาน การศึกษาเกี่ยวกับทัศนคติพบว่า ทัศนคติต่อประสานงานกับฝ่ายสังคมสงเคราะห์และฝ่ายจิตวิทยาดีที่สุดพอ ๆ กัน คิดเป็นร้อยละ 92.5 มีทัศนคติที่ดีต่อการปฏิบัติงานทั่วไป คิดเป็นร้อยละ 67.5 มีความเห็นว่าสวัสดิการ ความก้าวหน้าในวิชาชีพ โอกาสศึกษาต่อและบรรยากาศในการทำงานดี ในระดับปานกลางและค่อนข้างน้อย การศึกษาเกี่ยวกับปัญหา อุปสรรคและแนวทางแก้ไขพบว่า นักสังคมสงเคราะห์ต้องการเพิ่มพูนความรู้ ต้องการเพิ่มจำนวนบุคลากรในฝ่าย ต้องการห้องทำงานเกี่ยวกับผู้ป่วยที่เป็นสัดส่วน

Keywords: psychiatry, social, social worker, จิตเวช, จิตเวชศาสตร์, สังคม, สังคมสงเคราะห์

ปีที่เผยแพร่/Year: 2530

Address: กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

Code: 314300000003

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: นิพนธ์ต้นฉบับ

Download: -