ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: วัลภา ตั้งอุดมวงษา

ชื่อเรื่อง/Title: ลักษณะจิตสังคมของพระสงฆ์ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานสุขภาพจิตในจังหวัดสุราษฎร์ธานี

แหล่งที่มา/Source: เอกสารการวิจัย พ.ศ. 2540

รายละเอียด / Details:

การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 2 ประการ คือ (1) เปรียบเทียบลักษณะภูมิหลังของพระสงฆ์ที่มีผลกับการดำเนินงานสุขภาพจิต (2) ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างลักษณะจิตสังคมด้านความรู้เกี่ยวกับสุขภาพจิต และทัศนคติด้านสุขภาพจิตต่อผู้ป่วยจิตเวช ที่มีผลต่อการดำเนินงานสุขภาพจิต โดยพระสงฆ์นักพัฒนาในจังหวัดสุราษฎร์ธานี จำนวน 120 รูป สัมภาษณ์ และวิเคราะห์ข้อมูลด้วยโปรแกรม SPSS/PC+ ด้วยค่าสถิติ ร้อยละ ค่าเฉลี่ยเลขคณิต ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน t-test การวิเคราะห์ความแปรปรวน (One Way of ANOVA) และวิเคราะห์ความสัมพันธ์ด้วยค่าสัมประสิทธ์สหสัมพันธ์โดยวิธีเพียร์สัน (Pearson Product Moment Correlation) ผลการศึกษาดังนี้ 1. ลักษณะข้อมูลทั่วไปของพระสงฆ์ที่ใช้ศึกษา ส่วนมากอายุ 50 ปี จำพรรษาอยู่ในช่วง 1-5 พรรษามีตำแหน่งเป็นพระลูกวัด และบางรูปมีตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาส สำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษา และเมื่อบวชได้ศึกษาธรรมะในระดับนักธรรมเอก ส่วนการได้เข้าร่วมสัมมนาถวายความรู้สุขภาพจิต ส่วนมากพระสงฆ์ไม่เคยได้เข้าร่วมการสัมมนา 2. พระสงฆ์มีความรู้เกี่ยวกับสุขภาพจิตอยู่ในระดับปานกลาง โดยมีความรู้เกี่ยวกับสาเหตุ อาการพื้นฐาน การดูแลรักษาและการให้คำแนะนำปรึกษา 3. พระสงฆ์มีทัศนคติด้านสุขภาพจิตต่อผู้ป่วยจิตเวชที่ดีในเชิงบวก เรื่องความรัก ความสงสารแก่บุคคลที่ป่วยเป็นโรคจิต เข้าใจและเห็นใจผู้ปกครองที่มีผู้ป่วยโรคจิต ลมชัก ปัญญาอ่อน และยินดีจัดหากิจกรรมให้ผู้ป่วยทำ รวมทั้งยินดีเข้าไปให้คำแนะนำให้ครอบครัวเข้าใจ และร่วมมือกันช่วยเหลือให้ผู้ป่วยหายจากการเจ็บป่วยส่วนทัศนคติต่อผู้ป่วยจิตเวชในเชิงลบ พระสงฆ์รู้สึกกลัวคนไข้ที่มีอาการ 4. การดำเนินงานสุขภาพจิตของพระสงฆ์ ได้กระทำเป็นประจำ ได้แก่ ให้คำแนะนำผู้ป่วยไปโรงพยาบาล บางครั้งที่มีอาการไม่รุนแรงจะใช้วิธีรับฟังปัญหาให้คำแนะนำ จัดกิจกรรมให้ทำงาน และใช้วิธีการรักษาด้วยการสะเดาะเคราะห์ รดน้ำมนตร์ ดูหมอให้ 5. การทดสอบความสัมพันธ์ 5.1 ลักษณะภูมิหลังของพระสงฆ์ที่มีผลกับการดำเนินงานสุขภาพจิตในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้แก่ การได้เข้าร่วมสัมมนาถวายความรู้สุขภาพจิตของพระสงฆ์ที่แตกต่างกัน มีผลทำให้การดำเนินงานสุขภาพจิตแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ 5.2 ลักษณะจิตสังคมของพระสงฆ์ด้านความรู้เกี่ยวกับสุขภาพจิตมีความสัมพันธ์เชิงบวกกับการดำเนินงานสุขภาพจิตจังหวัดสุราษฎร์ธานี ในระดับต่ำอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ 5.3 ลักษณะจิตสังคมของพระสงฆ์ด้านทัศนคติต่อผู้ป่วยจิตเวชมีความสัมพันธ์เชิงบวกกับการดำเนินงานสุขภาพจิตจังหวัดสุราษฎร์ธานี ในระดับต่ำอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ 6. ข้อเสนอแนะ พระสงฆ์มีความรู้เกี่ยวกับสุขภาพจิต มีทัศนคติด้านสุขภาพจิตต่อผู้ป่วยจิตเวช ทำให้มีการดำเนินงานสุขภาพจิต ด้วยวิธีให้คำแนะนำปรึกษาทั้งผู้ป่วยและครอบครัว เพราะฉะนั้นควรมีการเพิ่มพูนความรู้ด้วยการให้คำปรึกษา รวมทั้งกระตุ้นให้ในระดับนโยบายส่งเสริมให้มีการสัมมนาถวายความรู้สุขภาพจิตให้แก่พระสงฆ์อย่างต่อเนื่อง และกระทำให้ครอบคลุมแก่พระสงฆ์ทุกระดับทั่วประเทศ

Keywords: community, psychiatry, psychology, religion, social, จิตวิทยา, จิตเวช, , จิตเวชศาสตร์, ชุมชน, ธรรม, ธรรมะ, พระ, พระสงฆ์, พุทธศาสนา, ศาสนา, ศาสนาพุทธ, สังคม

ปีที่เผยแพร่/Year: 2540

Address: โรงพยาบาลสวนสราญรมย์ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

Code: 316400000007

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: นิพนธ์ต้นฉบับ

Download: -