ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: งานศึกษาและฝึกอบรม ฝ่ายวิชาการ โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา

ชื่อเรื่อง/Title: การประเมินผลการอบรมหลักสูตรสุขภาพจิตและการพยาบาลจิตเวชโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา

แหล่งที่มา/Source: เอกสารการวิจัย พ.ศ. 2535

รายละเอียด / Details:

การวิจัยนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อประเมินเนื้อหาสาระของหลักสูตร การบริหารและการจัดดำเนินหลักสูตร ผลการปฏิบัติงานของผู้สำเร็จการอบรม และหาความจำเป็นในการจัดอบรมหลักสูตรสุขภาพจิตและการพยาบาลจิตเวชระดับหลังวิชาการพยาบาลขั้นพื้นฐาน (หลักสูตร 1 ปี) ซึ่งกรมการแพทย์ เป็นเจ้าของหลักสูตร และโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยารับผิดชอบดำเนินการ ในการประเมินผลการอบรม คณะผู้ประเมินใช้ข้อมูลจากหลักสูตรในปีการศึกษา 2533 กลุ่มตัวอย่างประชากร ได้แก่ ผู้รับการอบรม ในปีการศึกษา 2533 จำนวน 34 คน ผู้สำเร็จการอบรมตั้งแต่ปีการศึกษา 2524 ถึง 2532 เฉพาะที่ยังรับราชการอยู่ ผู้บังคับบัญชา และผู้ร่วมงานของผู้สำเร็จการอบรม กลุ่มละ 320 คน กลุ่มตัวอย่างประชากรสำหรับประเมิน ความจำเป็นในการจัดอบรม ได้แก่ ผู้บังคับบัญชาระดับ ผู้อำนวยการหรือหัวหน้าสายงานพยาบาล จำนวน 713 คน เก็บข้อมูลด้วยการใช้แบบสอบถามซึ่งคณะผู้ประเมินสร้างขึ้นเอง วิเคราะห์ข้อมูลด้วยการแจกแจงความถี่ คำนวณหาค่าร้อยละ หาค่าเฉลี่ย หาค่าความเบี่ยงเบนมาตรฐาน และหาค่าอัตราส่วน F โดยวิธีของเชฟเฟ ผลการประเมินสรุปได้ดังนี้ 1. ผลการประเมินการอบรมหลักสูตรสุขภาพจิตและการพยาบาลจิตเวชปีการศึกษา 2533 1.1 การประเมินเนื้อหาสาระของหลักสูตร พบว่า เนื้อหาวิชาและจำนวนชั่วโมงที่ใช้สอนในหัวข้อเรื่องต่าง ๆ ส่วนใหญ่มีความเหมาะสมกับหลักสูตร มีเพียงบางส่วนที่ควรปรับปรุงเพื่อให้ได้เนื้อหาสาระตรงกับจุดประสงค์ของหลักสูตร 1.2 การประเมินการบริหารและการจัดดำเนินหลักสูตร พบว่า สถานที่เรียนภาคทฤษฎีและสถานที่ฝึกปฏิบัติงานอยู่ในเกณฑ์เหมาะสมมาก สำหรับการบริหารและการจัดดำเนินหลักสูตรด้านอื่น ๆ อยู่ในเกณฑ์เหมาะสมปานกลาง 2. ผลการประเมินความสามารถในการปฏิบัติงานของผู้สำเร็จการอบรมพบว่า ทั้งผู้บังคับบัญชา ผู้ร่วมงาน และผู้สำเร็จการอบรม มีความเห็นสอดคล้องกันว่าความสามารถในการปฏิบัติงานของผู้สำเร็จการอบรมอยู่ในเกณฑ์เหมาะสมมากใน 3 ด้าน คือ ด้านปฏิบัติการพยาบาล ด้านการบริหารและประสานงาน และด้านพฤติกรรมที่แสดงถึงทัศนคติที่ดีต่อวิชาชีพและการทำงาน สำหรับการปฏิบัติงานด้านการป้องกันส่งเสริมและฟื้นฟูสุขภาพจิตอยู่ในเกณฑ์เหมาะสมปานกลาง แต่การประเมินความสามารถในการปฏิบัติงานของผู้สำเร็จการอบรมโดยรวมทั้ง 4 ด้าน พบว่า อยู่ในเกณฑ์เหมาะสมมากและเมื่อนำผลการประเมินความสามารถในการปฏิบัติงานของผู้สำเร็จการอบรมแต่ละด้านมาเปรียบเทียบกัน พบว่า ความสามารถในการปฏิบัติงาน 3 ด้าน คือ ด้านการปฏิบัติการพยาบาล ด้านการบริหารและประสานงาน และด้านพฤติกรรมที่แสดงถึงทัศนคติที่ดีต่อวิชาชีพและการทำงาน ไม่แตกต่างกันและสูงกว่าด้านการป้องกันส่งเสริมและฟื้นฟูสุขภาพจิตอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ .01 3. ผลการประเมินความจำเป็นในการจัดอบรม 3.1 การประเมินความคิดเห็นเกี่ยวกับความรู้ทางจิตเวชของพยาบาลวิชาชีพในหน่วยต่างๆ พบว่า ผู้บังคับบัญชาส่วนใหญ่มีความเห็นว่าความรู้พื้นฐานทางจิตเวชของพยาบาลวิชาชีพในหน่วยงานยังไม่เพียงพอ และเห็นด้วยว่า ควรมีพยาบาลวิชาชีพที่มีความรู้ทางจิตเวชในการปฏิบัติงาน 3.2 การประเมินนโยบายของหน่วยงานต่าง ๆ ในการส่งพยาบาลวิชาชีพเข้ารับการอบรมหลักสูตรสุขภาพจิตและการพยาบาลจิตเวช (หลักสูตร 1 ปี) พบว่า 3.2.1 หน่วยงาน 291 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 54.70 ไม่มีนโยบายส่งพยาบาลวิชาชีพเข้ารับการอบรม นอกนั้นต้องการส่ง โดย 148 แห่ง ต้องการส่ง 1 รุ่น 48 แห่ง ต้องการส่ง 2 รุ่น 15 แห่ง ต้องการส่ง 3 รุ่น 16 แห่ง ต้องการส่ง 4-11 รุ่น สำหรับหน่วยงานที่มีนโยบายจะส่งพยาบาลวิชาชีพเข้ารับการอบรมติดต่อกันทุกปีมี 91 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 17.11 3.2.2 หน่วยงาน 300 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 56.39 มีความเห็นว่าระยะเวลาการอบรม 1 ปี มากไป อีก 202 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 37.97 มีความเห็นว่า เหมาะสมดีแล้ว 3.2.3 การประเมินการรับรู้เกี่ยวกับการจัดอบรม พบว่า หน่วยงาน 219 แห่งคิดเป็นร้อยละ 41.17 ที่ไม่ได้รับรู้ว่าโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา จัดอบรมหลักสูตรสุขภาพจิตและการพยาบาลจิตเวช (หลักสูตร 1 ปี) ในจำนวนนี้เป็นโรงพยาบาลชุมชนเสีย 203 แห่ง จากผลสรุปดังกล่าว จะเห็นได้ว่า แม้จะมีบางส่วนในองค์ประกอบต่าง ๆ ของหลักสูตรที่ควรจะต้องมีการปรับปรุงให้มีคุณภาพและให้เหมาะสมมากขึ้นก็ตาม แต่โดยส่วนรวมแล้วจะพบว่า การอบรมหลักสูตรสุขภาพจิตและการพยาบาลจิตเวชโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยานี้ ดำเนินไปด้วยความราบรื่นและเป็นที่พอใจของผู้เข้ารับการอบรม และได้ผลผลิตตามวัตถุประสงค์ ตลอดจนยังเป็นที่ต้องการของหน่วยงานต่าง ๆ อีกเป็นจำนวนมาก

Keywords: nurse, psychiatric nurse, การอบรมการพยาบาลจิตเวช, พยาบาลจิตเวช, พยาบาล

ปีที่เผยแพร่/Year: 2535

Address: โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

Code: 317350000005

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: นิพนธ์ต้นฉบับ

Download: -