ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา

ชื่อเรื่อง/Title: ศึกษาผลกระทบทางสังคมและจิตใจของผู้ประสบเหตุการณ์จากเหตุเพลิงไหม้ บริษัท เคเดอร์ อินดัสเตรียล (ไทยแลนด์) จำกัด

แหล่งที่มา/Source: เอกสารการวิจัย พ.ศ. 2536

รายละเอียด / Details:

สืบเนื่องจากเกิดเหตุเพลิงไหม้โรงงานผลิตตุ๊กตาของบริษัท เคเดอร์ อินดัสเตรียล (ไทยแลนด์) จำกัด เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2536 มีคนงานเสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก คณะผู้วิจัยได้ทำการวิจัยโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ ศึกษาผลกระทบทางสังคมและจิตใจของผู้บาดเจ็บและศึกษาผลกระทบทางสังคมและจิตใจของครอบครัวผู้เสียชีวิต/ผู้สูญหาย ทั้งนี้ เพื่อเป็นแนวทางการช่วยเหลือที่เหมาะสม ผู้วิจัยได้ส่งแบบสอบถามไปยังผู้บาดเจ็บ 421 ราย ครอบครัวผู้เสียชีวิตหรือผู้สูญหาย 190 ราย มีผู้บาดเจ็บตอบกลับคืนมาที่นำมาวิเคราะห์ได้ 204 ราย (ร้อยละ 48.45) ครอบครัวผู้เสียชีวิตหรือผู้สูญหายตอบกลับคืนมาที่นำมาวิเคราะห์ได้ 102 ราย (ร้อยละ 53.68) ผลการวิจัยพบว่า ผู้บาดเจ็บส่วนใหญ่ยังมีความพิการชั่วคราว (ร้อยละ 48.5) คนเหล่านี้มีส่วนจุนเจือหรือช่วยเหลือครอบครัวมากที่สุด (ร้อยละ 62.3) เกินกว่าครึ่งมีฐานะขัดสน (ร้อยละ 61.3) ผลกระทบทางสังคมที่เขาได้รับตามลำดับคือ ขาดแคลนเงินค่าใช้จ่ายในครอบครัว (ร้อยละ 70.1) สภาพร่างกายที่บาดเจ็บ ทำให้ไม่สามารถทำงานได้ (ร้อยละ 60.8) ตกงาน (ร้อยละ 60.8) ไม่มีความรู้ความเข้าใจในการเรียกร้องสิทธิที่ควรได้ (ร้อยละ 40.8) เพื่อนหรือญาติสูญหายหรือเสียชีวิต (ร้อยละ 41.7) ไม่ทราบว่าจะขอความช่วยเหลือจากที่ใด (ร้อยละ 37.3) ผลกระทบทางจิตใจ พบว่าหลังเกิดเหตุไฟไหม้ ผู้บาดเจ็บมีคะแนนเฉลี่ยอาการทางสุขภาพจิตสูงกว่าก่อนไฟไหม้ (ก่อนไฟไหม้ คะแนนเฉลี่ย= 28.73 หลังไฟไหม้ คะแนนเฉลี่ย= 40.47 P‹0.05) เมื่อแบ่งคะแนนอาการทางสุขภาพจิตออกเป็นระดับคือ ต่ำ ปานกลางและสูง พบว่า หลังไฟไหม้ผู้บาดเจ็บที่มีอาการทางสุขภาพจิตระดับต่ำมีน้อยลง (ก่อนไฟไหม้ร้อยละ 84 หลังไฟไหม้ ร้อยละ 22.4) ระดับปานกลาง สูงขึ้น (ก่อนไฟไหม้ร้อยละ 16 หลังไฟไหม้ ร้อยละ 72.4) และระดับสูง มีมากขึ้น (ก่อนไฟไหม้ อาการสุขภาพจิตระดับสูงไม่มี หลังไฟไหม้มีร้อยละ 5.2) ในกลุ่มครอบครัวผู้เสียชีวิตหรือผู้สูญหาย พบว่าส่วนใหญ่มีรายได้ต่ำกว่า 2,000 บาท (ร้อยละ 65.7) และขัดสนทางการเงิน (ร้อยละ 57) ผลกระทบทางสังคมและจิตใจที่เขาได้รับตามลำดับคือ สมาชิกในครอบครัวได้รับความสะเทือนใจ (ร้อยละ 75.5) ขาดรายได้จากผู้เสียชีวิตหรือผู้สูญหาย (ร้อยละ 70.6) ไม่มีความรู้ความเข้าใจในการเรียกร้องสิทธิที่ควรได้ (ร้อยละ 60.8) ขาดแคลนเงิน ค่าใช้จ่ายในครอบครัว และเกิดความเครียดในครอบครัว (ร้อยละ 56.9 เท่ากัน) ไม่ทราบว่าจะขอความช่วยเหลือจากที่ใดและคนในครอบครัวรู้สึกสับสนกว่าก่อนไฟไหม้ (ก่อนไฟไหม้ คะแนนเฉลี่ย= 30.56 หลังไฟไหม้ คะแนนเฉลี่ย= 42.40 P<0.05) เมื่อแบ่งคะแนนอาการสุขภาพจิตออกเป็นระดับต่ำ มีน้อยลง (ก่อนไฟไหม้ร้อยละ 74.1 หลังไฟไหม้ร้อยละ 16.7) ระดับปานกลาง สูงขึ้น (ก่อนไฟไหม้อาการทางสุขภาพจิต ระดับสูงไม่มี หลังไฟไหม้มีร้อยละ 14) หลังไฟไหม้พบว่า ครอบครัวผู้เสียชีวิตหรือผู้สูญหายได้รับผลกระทบทางจิตใจระดับสูงมากกว่าผู้บาดเจ็บเกินกว่า 1 เท่า (ผู้บาดเจ็บร้อยละ 5.2 ครอบครัวผู้เสียชีวิตร้อยละ 14) ในด้านแนวทางการช่วยเหลือนั้น ควรมีคณะกรรมการระดับกระทรวง กรม ที่เกี่ยวข้องร่วมวางแผนการดำเนินการ โดยร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด เพื่อให้มีการป้องกันช่วยเหลือ รักษาและฟื้นฟูสภาพ มีการติดตามเฝ้าระวังปัญหาทางกาย จิต และสังคม ในคนกลุ่มนี้ ควรมีการให้ความรู้ในด้านต่าง ๆ โดยผ่านสื่อต่าง ๆ ผู้เกี่ยวข้องควรคิดหามาตรการป้องกันและบังคับใช้ให้เกิดความปลอดภัยในการทำงานและให้คำปรึกษา ตลอดจนบำบัดรักษาเมื่อเขาไม่อยู่ในภาวะที่จะช่วยเหลือตนเองได้แล้ว

Keywords: community, psychiatry, stress, ความเครียด, เครียด, จิตเวช, จิตเวชศาสตร์, ชุมชน, อุบัติเหตุ

ปีที่เผยแพร่/Year: 2536

Address: โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

Code: 317360000001

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: นิพนธ์ต้นฉบับ

Download: -