ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: กาญจนา เภาราษฎร์, มะลิ ชูโต, ทิวรวรรณ วัชรบุญโชติ

ชื่อเรื่อง/Title: การติดตามและฟื้นฟูสภาพจิตใจแก่ผู้ประสบภัย จากเหตุการณ์สารเคมีระเบิดที่คลองเตย เมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2534

แหล่งที่มา/Source: เอกสารการวิจัย พ.ศ. 2538

รายละเอียด / Details:

ตามหนังสือสำนักงานปลัด กระทรวงสาธารณสุข กองสาธารณสุขภูมิภาค ที่ สธ 0212/92/304 ลงวันที่ 17 สิงหาคม 2537 เรื่อง การช่วยเหลือผู้ประสบภัยเนื่องจากสารเคมีระเบิดที่คลองเตย ขอความร่วมมือจากกรมการแพทย์ในการติดตามและให้ความช่วยเหลือด้านการฟื้นฟูสภาพจิตใจแก่ผู้ประสบภัยจากเหตุการณ์สารเคมีระเบิดที่คลองเตย เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2534 ครั้งนั้นมีผู้เจ็บป่วยเรื้อรังที่ออกไปให้การช่วยเหลือ 176 ราย และในจำนวนนี้ยังคงมีผู้ต้องการได้รับความช่วยเหลือด้านการรักษาพยาบาลอย่างเร่งด่วน 40 ราย ซึ่งฝ่ายสังคมสงเคราะห์ โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยาได้รับมอบหมายให้เป็นผู้รับผิดชอบติดตามและให้ความช่วยเหลือด้านฟื้นฟูสภาพจิตใจแก่ผู้ประสบภัยจากสารเคมีระเบิด จากการติดตามโดยการเยี่ยมบ้านพบว่า จำนวนผู้ประสบภัย 40 ราย ใน 40 ครอบครัว มีสมาชิกในครอบครัวรวมทั้งสิ้น 211 ราย ปัญหาที่พบแบ่งออกเป็นปัญหาสำคัญ 3 ปัญหา คือ ปัญหาสุขภาพกาย ปัญหาสุขภาพจิต และปัญหาสังคม การติดตามช่วยเหลือผู้ประสบภัยโดยนักสังคมสงเคราะห์ครั้งนี้มุ่งการฟื้นฟูสภาพจิตใจแก่ผู้ประสบภัยเป็น สำคัญ คือปัญหาสุขภาพจิตแต่ก็ไม่อาจละเลยปัญหาสุขภาพกายและปัญหาสังคม ซึ่งผู้ประสบภัยยังคงประสบอยู่ในขณะนั้น ปัญหาสุขภาพกาย พบมากที่สุด 39 ครอบครัว คิดเป็นร้อยละ 97.5 จากจำนวนสมาชิกในครอบครัวที่ป่วยทางกาย 83 ราย โรคทางกายที่พบมากที่สุด 28 ราย คือ ผื่นคัน แสบผิวหนัง พุพอง เป็นตุ่มเน่า ดำเป็นจ้ำ ๆ ไอเป็นหวัดเรื้อรัง และท้องเสีย ผู้ประสบภัยส่วนใหญ่ได้รับการรักษา ผู้ประสบภัยส่วนหนึ่งได้รับเงินช่วยเหลือรักษาพยาบาลจากมูลนิธิดวงประทีป ซึ่งมูลนิธิดวงประทีปไม่สามารถช่วยเหลือได้เต็มจำนวนทุกราย ผู้ประสบภัยเหล่านี้จึงต้องกู้เงินมารักษา ทำให้ต้องมีหนี้สิน บางรายต้องไปพึ่งคลินิกคนยากในเขตคลองเตย ปัญหาสุขภาพจิตมี 18 ครอบครัว คิดเป็นร้อยละ 45 มีสมาชิกในครอบครัวป่วยทางอารมณ์และจิตใจ 18 ราย อาการที่พบมากที่สุดคือ คิดมาก เบื่ออาหาร รำคาญ กังวลเกี่ยวกับสุขภาพ ปัญหาสุขภาพจิตส่วนใหญ่เกิดขึ้นหลังจากเหตุการณ์สารเคมีระเบิด 14 ครอบครัว อีก 4 ครอบครัว มีอาการก่อนสารเคมีระเบิด ซึ่งไปกระตุ้นให้เกิดอาการมากขึ้นและปัญหาสุขภาพจิตส่วนใหญ่ เกิดจากสาเหตุการเจ็บป่วยทางกายเรื้อรัง ความเหงาต้องอยู่คนเดียวไม่มีผู้ดูแล ว่างงาน และมีรายได้น้อย ผู้ประสบภัยส่วนใหญ่พอใจที่นักสังคมสงเคราะห์ไปเยี่ยมบ้าน พูดคุยไตร่ถามทุกข์สุข รับฟังปัญหาที่เขาประสบอยู่ นักสังคมสงเคราะห์ได้ให้การสนับสนุนส่งเสริมกำลังใจ (Supportive Psychotherapy) ให้ความรู้และให้การปรึกษาติดต่อประสานงาน ส่งต่อผู้ประสบภัยไปรับบริการที่จำเป็นยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สำหรับปัญหาสังคมพบว่า ผู้ประสบภัยมีปัญหาสังคม 29 ครอบครัว คิดเป็นร้อยละ 72.5 มีสมาชิกในครอบครัวที่มีปัญหาสังคม ทั้งหมด 43 ราย ปัญหาสังคมที่พบมากที่สุด 13 ราย คือ ไม่มีค่ารักษาพยาบาล ต้องได้รับความช่วยเหลือจากองค์กรของรัฐและเอกชน นักสังคมสงเคราะห์ได้ช่วยเหลือการเงินในการขจัดปัญหาเฉพาะหน้า ติดต่อประสานงานเพื่อส่งต่อไปรับความช่วยเหลือจากองค์กรของรัฐและเอกชน พร้อมทั้งกระตุ้นเตือนให้ผู้ประสบภัยติดตามเรื่องที่ได้ยื่นขอความช่วยเหลือไว้กับองค์กรที่จะให้ความช่วยเหลือ ข้อเสนอแนะจากการติดตามและให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูสมรรถภาพจิตแก่ผู้ประสบภัยจากเหตุการณ์สารเคมีระเบิดที่คลองเตยครั้งนี้ คือ ควรมีคณะกรรมการป้องกันอุบัติภัยที่ประกอบด้วยบุคคลผู้รับผิดชอบทุกระดับประจำทุกหน่วยงาน ควรส่งทีมสุขภาพจิตเข้าไปเยี่ยมเยี่ยนผู้ประสบภัยในชุมชนบ้าง ในรูปแบบของการออกหน่วยเคลื่อนที่ รัฐควรจัดสรรงบประมาณการช่วยเหลือให้แก่หน่วยงานของรัฐในพื้นที่ที่เกิดเหตุการณ์อย่างทันกาล การประสานงานกับผู้นำชุมชนเป็นความจำเป็นอย่างยิ่ง ในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยในชุมชน รัฐควรจัดสรรงบประมาณการช่วยเหลือแก่หน่วยงานเอกชนในเขตพื้นที่ที่เกิดเหตุการณ์ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนผู้ประสบภัยทั้งจะเป็นกำลังใจแก่หน่วยงานเอกชนด้วย และการไม่เก็บสะสมสารเคมีไว้เป็นจำนวนมากในแหล่งชุมชนแออัด เป็นส่วนหนึ่งของการป้องกันอุบัติภัยที่จะเกิดแก่สุขภาพ ชีวิต ทรัพย์สินของชาติต่อไป

Keywords: community, psychiatry, stress, ความเครียด, เครียด, จิตเวช, จิตเวชศาสตร์, ชุมชน, อุบัติเหตุ

ปีที่เผยแพร่/Year: 2538

Address: ฝ่ายสังคมสังเคราะห์ โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

Code: 318380000002

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: นิพนธ์ต้นฉบับ

Download: -