ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: ยลฉัต ทองเรืองศรี

ชื่อเรื่อง/Title: ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับความวิตกกังวลในการปฏิบัติงานของพยาบาล โรงพยาบาลประสาทสงขลา

แหล่งที่มา/Source: เอกสารการวิจัย พ.ศ. 2538

รายละเอียด / Details:

การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงสำรวจ เพื่อศึกษาระดับความวิตกกังวลในการปฏิบัติงานของพยาบาล เปรียบเทียบระดับความวิตกกังวลของพยาบาลที่ปฏิบัติงานในงานประสาทวิทยาและงานจิตเวชและเพื่อศึกษาปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับความวิตกกังวลในการปฏิบัติงานของพยาบาลโรงพยาบาลประสาทสงขลา ประชากรคือบุคลากรที่ปฏิบัติงานในฝ่ายการพยาบาล ประกอบด้วย พยาบาลวิชาชีพ พยาบาลเทคนิค และเจ้าหน้าที่พยาบาลที่ปฏิบัติงานในแผนกผู้ป่วยใน เป็นจำนวน 152 คน คัดเลือกกลุ่มตัวอย่างโดยวิธีการสุ่มแบบเฉพาะเจาะจง กลุ่มตัวอย่างคือ บุคลากรที่ปฏิบัติงานในแผนกผู้ป่วยในขณะที่ทำการสำรวจและเก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 20-27 มิถุนายน 2538 ได้จำนวน 100 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้คือ แบบวัดความวิตกกังวลของ Zung ซึ่งเป็นมาตราส่วนประมาณค่าระดับการประเมินความวิตกกังวล แบ่งเป็น 4 ระดับ คือไม่มีความวิตกกังวลเลย มีความวิตกกังวลเป็นบางเวลาเป็นเวลานาน และเกือบหรือตลอดเวลา กรณีคำถามเชิงบวกการให้คะแนนจะเป็น 1, 2, 3 และ 4 ตามลำดับ ส่วนกรณีคำถามเชิงลบก็จะตรงกันข้ามกัน เกณฑ์ในการแบ่งระดับความวิตกกังวลใช้ค่าดัชนี SAS เป็นเกณฑ์ในการแบ่ง ซึ่งแบ่งได้ 4 ระดับ คือ ระดับปกติ มีความวิตกกังวลเล็กน้อย มีความวิตกกังวลชัดเจน และมีความวิตกกังวลสูงมาก ผู้วิจัยเก็บข้อมูลโดยการให้กลุ่มตัวอย่างตอบแบบสอบถามด้วยตนเอง ผลการวิจัยพบว่าบุคลากรทางการพยาบาลส่วนใหญ่มีความวิตกกังวลอยู่ในระดับปกติ (ร้อยละ 82) และมีความวิตกกังวลในระดับเล็กน้อย ร้อยละ 18 ค่าเฉลี่ยความวิตกกังวลของพยาบาลในงานประสาทวิทยาและงานจิตเวช ไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p‹0.05) สำหรับปัจจัยด้านข้อมูลทั่วไปพบว่าไม่มีความสัมพันธ์กับระดับความวิตกกังวล ยกเว้นระยะเวลาในการปฏิบัติงานที่พบว่ามีความสัมพันธ์กับระดับความวิตกกังวลอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) โดยบุคลากรที่มีประสบการณ์ในการทำงานเป็นระยะเวลานานมีความวิตกกังวลสูงกว่าบุคลากรที่มีประสบการณ์ในการทำงานน้อยกว่า ผลการวิจัยครั้งนี้จะเป็นแนวทางนำไปสู่การหาวิธีการที่เหมาะสมในการลดระดับความวิตกกังวลของบุคลากร ไม่ให้มีแนวโน้มไปสู่ระดับความวิตกกังวลที่มากขึ้น แต่จะช่วยให้สามารถใช้ระดับความวิตกกังวลในระดับต่ำเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดประโยชน์ทันต่อการทำงานและการดำเนินชีวิตของบุคลากรพยาบาลต่อไป

Keywords: nurse, psychiatric nursing, stress, ความเครียด, เครียด, การพยาบาลจิตเวช, ปฏิบัติการพยาบาล, พยาบาล

ปีที่เผยแพร่/Year: 2538

Address: โรงพยาบาลประสาทสงขลา กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข

Code: 318380000003

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: นิพนธ์ต้นฉบับ

Download: -