ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: นฤมล ศรีทานันท์, มะลิวัลย์ หงสนันท์, สุมนา ศรีชลาชัย, ปราวิณีย์ สาระ, ยุพดี พูลจิตต์, อินทนิล เชื้อบุญชัย, พูนศรี สิทธิเสนา, อรอินทร์ ข่าคม

ชื่อเรื่อง/Title: การศึกษาผู้ป่วยที่ย้อนกลับมาโรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์หลังจากส่งต่อไปปรึกษา

แหล่งที่มา/Source: เอกสารการวิจัย พ.ศ. 2536

รายละเอียด / Details:

การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาทัศนคติของผู้ป่วยที่มีต่อการส่งต่อไปรักษายังสถานบริการอื่น และสาเหตุการย้อนกลับมารักษาที่โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ หลังจากส่งต่อไปรักษายังสถานบริการอื่นระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2535 - 31 ธันวาคม 2535 และผู้ป่วยนั้นย้อนกลับมารักษาที่โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ ระหว่างเดือนมกราคม - มีนาคม 2536 ทุกราย จำนวน 340 ราย โดยใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง (Purposive Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสอบถามที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นเองและวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติร้อยละ ผลการวิจัยพบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยมารับยาด้วยตนเอง เพศหญิง จำแนกโรคผู้ป่วยเป็นโรคประสาทมากที่สุด อายุ 31-40 ปี สถานภาพคู่ การศึกษาระดับประถมศึกษา อาชีพเกษตรกรรม รายได้ของครอบครัวเฉลี่ยต่อปี 10,000 - 30,000 บาท จำนวนสมาชิกในครอบครัว 5-9 คน ส่วนใหญ่อยู่ในเขตจังหวัดอุบลราชธานี ก่อนมารับการตรวจรักษาที่โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ในครั้งแรกกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ไม่เคยไปรับการตรวจรักษาจากสถานบริการใดมาก่อนอาการที่มาตรวจรักษาครั้งแรกเป็นโรคประสาท คือมาด้วยอาการปวดศรีษะ นอนไม่หลับหายใจไม่อิ่ม เหตุผลที่มาตรวจรักษาที่โรงพยาบาลครั้งแรก เป็นเพราะญาติหรือเพื่อนบ้านแนะนำมา หลังจากการตรวจรักษาที่โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ก่อนที่จะส่งต่อไปรักษายังสถานบริการอื่นอาการเจ็บป่วยดีขึ้น ความรู้สึกครั้งแรกที่ได้รับการส่งต่อไปยังสถานบริการอื่นที่มีความพอใจมาก เพราะสะดวกในการไปรับบริการ สถานบริการที่ส่งต่อไปรักษาเป็นโรงพยาบาลชุมชน ส่วนใหญ่ไปรับบริการสถานบริการที่ระบุไว้ในใบส่งตัว ความถี่ในการไปรับบริการ กลุ่มตัวอย่างไปบ้างไม่ไปบ้าง แต่น้อยกว่า 5 ครั้ง ลักษณะยาที่ได้รับจากสถานบริการอื่นเหมือนเดิมบ้าง ไม่เหมือนเดิมบ้าง ส่วนใหญ่ไม่ได้รับบริการอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากยา ความคาดหวังที่กลุ่มตัวอย่างมีต่อสถานบริการที่ไปรักษา คืออยากได้รับการตรวจเช็คร่างกายและตรวจพิเศษอื่น ๆ ค่าใช้จ่ายที่เสียไปถูกกว่ามารักษาที่โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ ระยะทางจากบ้านไปยังสถานบริการที่ส่งต่อไปรักษา 1-10 กิโลเมตร สาเหตุที่กลุ่มตัวอย่างย้อนกลับมารับการรักษาที่โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์เรียงตามลำดับจากมากไปหาน้อยได้ดังนี้ รับยาจากสถานบริการอื่นมาแล้วอาการไม่ดีขึ้น, อาการกำเริบ, ได้รับยาจากสถานบริการอื่นไม่เหมือนยาเดิม , พึงพอใจในการให้บริการของโรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ที่สะดวกรวดเร็ว, มีคนแนะนำให้กลับมารักษาอีก, สถานบริการอื่นยังไม่มียาจ่ายให้, ได้รับยาจำนวนน้อยลง สถานบริการอื่นไม่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหรือเครื่องมือตรวจเฉพาะโรค และค่ายาจากสถานบริการอื่นแพงกว่าโรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ นอกจากนี้ผลการวิจัยยังพบว่า ปัจจัยอื่น ๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้แก่กลุ่มตัวอย่างมีความรู้สึกกลัว ไม่อยากไปรับบริการที่อื่น มาทำธุระอื่นจึงแวะเข้ามารับยาเดิม, สถานบริการอื่นไม่สะดวกรอนาน, อาการเจ็บป่วยเดิมหายแล้วแต่มีอาการอื่นเพิ่มขึ้น, ช่วงที่มารับใบส่งตัวไปทำงานอยู่ต่างจังหวัด ปัจจุบันมาอยู่ที่บ้าน, ทำใบส่งตัวหายและต้องมาปรึกษาแพทย์เพื่อขอลดยา จากผลการวิจัยดังกล่าว น่าจะเป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานโรงพยาบาลต่าง ๆ ที่ส่งต่อผู้ป่วยและหน่วยงานที่รับส่งต่อ ในการที่จะปรับปรุง หรือพัฒนาวิธีการให้บริการที่จะให้ผู้ป่วยเข้าใจในบริการดังกล่าวตลอดจนน่าจะเป็นประโยชน์ต่อระดับนโยบายในการบริหารจัดการ การดำเนินงานดังกล่าว

Keywords: community, psychiatry, refer, referral, referral system, จิตเวช, จิตเวชศาสตร์, ชุมชน, ผู้ป่วยส่งต่อ

ปีที่เผยแพร่/Year: 2536

Address: โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

Code: 319360000028

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: นิพนธ์ต้นฉบับ

Download: -