ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: สุพิศศรี รัตนสิน, วีระ ดุลย์ชูประภา

ชื่อเรื่อง/Title: ศึกษาปัญหาการใช้ยาจิตเวชของผู้ป่วยจิตเวชในชุมชนที่มารับบริการจากโรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์

แหล่งที่มา/Source: เอกสารการวิจัย พ.ศ. 2537

รายละเอียด / Details:

การศึกษาวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาถึงปัจจัยที่เกิดจากยารักษาโรคจิตจากตัวผู้ป่วยจิตเวช และปัจจัยสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อการรักษาผู้ป่วยจิตเวชด้วยยาโดยศึกษาจากผู้ป่วยจิตเวชหรือญาติที่เคยมารับบริการรับยาที่โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์จำนวน 246 คน และใช้การวิจัยเป็นเชิงพรรณนา เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสอบถามที่คณะผู้วิจัยสร้างขึ้นการวิเคราะห์ข้อมูล โดยใช้อัตราส่วนร้อยละ จากการศึกษาได้ผลข้อสรุปดังนี้ 1. ปัจจัยที่เป็นปัญหาการใช้ยาทางจิตเวชที่มีสาเหตุมาจากผู้ป่วยเกิดจาก ผู้ป่วยขาดยา (ผู้ป่วยที่มารับการรักษาด้วยยาไม่ต่อเนื่อง) ร้อยละ 14.63 การลืมรับประทานยาร้อยละ 26.83 การใช้ยาไม่ถูกต้องตามวิธีการใช้ยาที่ระบุในฉลากยาร้อยละ 7.32 2. ปัจจัยที่เกิดจากผลข้างเคียงของยารักษาโรคจิตได้แก่ อาการง่วงซึม ร้อยละ 63.82 อาการปากแห้ง คอแห้ง ท้องผูก ปัสสาวะลำบาก ร้อยละ 18.29 อาการความดันโลหิตต่ำ ร้อยละ 12.20 อาการตัวแข็งเกร็ง มือสั่น น้ำลายไหล ร้อยละ 9.76 3. ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ ที่เป็นปัญหาได้แก่ ปัญหายาราคาแพง ร้อยละ 18.84 การแพ้ยาร้อยละ 2.03 ปัญหาการรับบริการส่งต่อโรงพยาบาลชุมชนไม่เหมือนที่ได้รับบริการจากโรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ในเรื่องสียา เม็ดยา ขนาดยา และอื่น ๆ ร้อยละ 79.59 (โดยศึกษาจากผู้ป่วยจิตเวชที่ได้รับบริการส่งต่อจำนวน 49 ราย) ปัญหาการรับบริการยาทางไปรษณีย์ เช่น ได้รับยาผิด ราคายาแพงขึ้น ได้รับยาไม่เหมือนเดิม การส่งยาล่าช้า ร้อยละ 52.17 (โดยศึกษาจากผู้ป่วยจิตเวชที่ได้รับยาทางไปรษณีย์ จำนวน 23 ราย) ปัญหาผลการรักษาด้วยยา ของผู้ป่วยไม่ดีขึ้นร้อยละ 6.50 ปัญหาการรับบริการที่โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ไม่สะดวก ร้อยละ 10.16 และปัญหาเรื่องการเดินทางมาโรงพยาบาลฯ ลำบาก ค่ารถแพง ร้อยละ 48.78 ดังนั้น เพื่อให้ผลการรักษาด้วยยาในผู้ป่วยจิตเวชได้ประโยชน์สูงสุด จึงควรลดปัจจัยต่าง ๆที่เป็นสาเหตุของปัญหา เช่น ความร่วมมือของผู้ป่วยในการปฏิบัติตัวให้ถูกต้องตามที่แพทย์แนะนำ การมารับยาอย่างต่อเนื่อง การอธิบายให้ผู้ป่วยเข้าใจถึงผลข้างเคียงของยา และแก้ปัญหาโดยอาจเปลี่ยนยาหรือขนาดยา เพื่อลดผลข้างเคียงของยา การแก้ไขระบบบริการส่งต่อและระบบบริการยาทางไปรษณีย์ ควรนำมาพิจารณาเพื่อลดปัจจัยที่เป็นปัญหา ซึ่งถ้าหากลดปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ได้จะส่งผลให้การรักษาด้วยยาทางจิตเวชในผู้ป่วยจิตเวชได้ประโยชน์สูงสุด และลดภาวการณ์กลับมาเป็นซ้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ

Keywords: community, drug, pharmacy, psychiatry, จิตเวช, จิตเวชศาสตร์, ชุมชน, เภสัชกรรม, ยา

ปีที่เผยแพร่/Year: 2537

Address: โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

Code: 319370000003

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: นิพนธ์ต้นฉบับ

Download: -