ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: มานิดา สิริวรรณ, พิกุล ผาสุขมูล, เยาวลักษณ์ การกล้า

ชื่อเรื่อง/Title: การศึกษาภาวะสังคม - จิตใจของผู้ป่วยจิตเวชคดีศึกษาเฉพาะกรณีที่มารับบริการที่โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์

แหล่งที่มา/Source: เอกสารการวิจัย พ.ศ. 2538

รายละเอียด / Details:

การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาภาวะทางสังคม - จิตใจของผู้ป่วยจิตเวชคดี ประเภทของคดีที่ผู้ป่วยจิตเวชกระทำ ตลอดจนความสัมพันธ์ระหว่างข้อมูลทั่วไป ข้อมูลทางสังคม กับภาวะทางจิตใจ รูปแบบการวิจัยเป็นการวิจัยสำรวจ ประชากรที่ศึกษาเป็นผู้ป่วยจิตเวชคดีที่มารับบริการที่โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ ทั้งผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยรับไว้รักษา รวมทั้งผู้ป่วยที่กลุ่มงานนิติจิตเวชออกไปให้บริการในเรือนจำกลางจังหวัดอุบลราชธานี จำนวนกลุ่มตัวอย่างที่มารับบริการระหว่างเดือนมีนาคม - พฤษภาคม 2539 จำนวน 101 ราย เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยคือแบบสอบถามที่สร้างขึ้นโดยคณะผู้วิจัย และแบบทดสอบทางสุขภาพจิต SCL-90 วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้อัตราส่วนร้อยละ ค่า ไคสแคร์ (Chi-square) T-test F-test และค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์(Correlation) ผลการวิจัยพบว่าผู้ป่วยจิตเวชคดีส่วนใหญ่เป็นเพศชาย ช่วงอายุส่วนใหญ่ต่ำกว่า 30 ปี สถานภาพโสด ส่วนใหญ่มีการศึกษาระดับประถมศึกษา มีอาชีพทำนาเป็นส่วนใหญ่ และมีรายได้ต่ำกว่า 1,000 บาทต่อเดือน ส่วนใหญ่คิดว่ารายได้ของตนเองพอใช้ ภาวะทางสังคมพบว่าการได้รับการเลี้ยงดูจากบิดามารดาและผู้ปกครองกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดว่าตนเองได้รับการเลี้ยงดูแบบปล่อยปละละเลย รองลงมาคือได้รับการเลี้ยงดูแบบเอาใจใส่ ส่วนการเคยเห็นบุคคลในครอบครัวเล่นการพนัน พบว่าส่วนใหญ่เคยเห็นบุคคลในครอบครัวใช้สิ่งเสพติดเป็นประจำ การเคยเห็นบุคคลในครอบครัวขัดแย้งหรือทะเลาะเบาะแว้ง พบว่าส่วนใหญ่เห็นเป็นบางครั้ง การเคยเห็นบุคคลในครอบครัวทำร้ายร่างกายกัน พบว่าเคยเห็นเป็นบางครั้ง การเคยเห็นบุคคลในครอบครัวกระทำผิดพบว่าเคยเห็นเป็นประจำ นอกจากนี้พบว่าการเห็นบุคคลในครอบครัวใช้สิ่งเสพติดมีความสัมพันธ์กับการมีประสบการณ์การใช้สิ่งเสพติดของกลุ่มตัวอย่าง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 คดีที่ผู้ป่วยจิตเวชกระทำส่วนใหญ่เป็นคดีรัฐเป็นผู้เสียหาย คือยาเสพติดให้โทษ และพบว่ารายได้ที่ต่างกันมีความสัมพันธ์กับภาวะทางจิตใจ คือ กลุ่มที่มีรายได้ต่ำ มีภาวะทางสุขภาพจิตที่เป็นปัญหาทางจิตสูงกว่ากลุ่มอื่น ๆ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ส่วนกลุ่มที่เคยเจ็บป่วยทางกายและจิตใจมีภาวะทางสุขภาพจิตที่เป็นปัญหาทางจิตสูงกว่ากลุ่มที่ไม่เคยเจ็บป่วยทางกายและจิตใจ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.5 และพบว่าสภาพครอบครัวที่ต่างกัน การได้รับการเลี้ยงดูที่ต่างกัน มีภาวะทางสุขภาพจิตที่แตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05

Keywords: family, forensic, forensic psychiatry, psychiatry, psychology, social, ครอบครัว,

ปีที่เผยแพร่/Year: 2538

Address: โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

Code: 319380000013

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: นิพนธ์ต้นฉบับ

Download: -