ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: เตือนตา วิโรจน์อุไรเรือง, ชัยณรงค์ เจริญศรี, อมรรัตน์ พูลทอง, พนิดา กองสุข, ชุลีวรรณ เพียรทอง, เจริญศรี โควินท์

ชื่อเรื่อง/Title: การสำรวจทัศนคติของพระภิกษุต่อผู้ป่วยจิตเวช

แหล่งที่มา/Source: เอกสารการวิจัย พ.ศ. 2539

รายละเอียด / Details:

วัตถุประสงค์ของการวิจัย 1. เพื่อสำรวจทัศนคติของพระภิกษุที่มีต่อผู้ป่วยจิตเวช 2. เพื่อสำรวจสภาพแวดล้อมของวัดที่เหมาะสม และความพร้อมของพระภิกษุต่อการดูแลผู้ป่วยที่ไม่มีญาติ หลัง จำหน่ายออกจากโรงพยาบาล 3. เพื่อเป็นแนวทางในการศึกษาวิจัย วิธีดำเนินการวิจัย เก็บข้อมูลโดยใช้แบบสอบถาม (ที่สร้างขึ้น) จากกลุ่มตัวอย่าง พระภิกษุที่ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัด หรือรักษาการแทน รวม 60 ราย ใน 60 วัด ในเขต 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองอุบลราชธานี อำเภอวารินชำราบ กิ่งอำเภอสำโรง และกิ่งอำเภอดอนมดแดง วิเคราะห์ข้อมูลโดยการแจกแจงความถี่ และอัตราส่วนร้อยละ จากการศึกษาพบว่า 1. อายุของวัดส่วนใหญ่ร้อยละ 66.67 มีอายุมากกว่า 31 ปีขึ้นไป แต่ละวัดส่วนใหญ่ร้อยละ 71.67 จะมีพระภิกษุ ประมาณ 1-5 รูป กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ร้อยละ 36.66 มีอายุระหว่าง 41-60 ปี และบวชมานาน 11-20 ปี มากที่สุดร้อยละ 33.33 2. กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ร้อยละ 90 พอมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพจิตบ้างและรองลงมาร้อยละ 10 มีความรู้เป็นอย่างดี โดยส่วนใหญ่ร้อยละ 61.67 ได้รับความรู้ดังกล่าว จากเอกสารแผ่นพับและบทความมากกว่าสื่ออย่างอื่นทั้งยังมีความเห็นว่าธรรมะกับสุขภาพจิตมีส่วนเกี่ยวข้องกัน เป็นส่วนใหญ่ร้อยละ 53.33 นอกจากนั้นส่วนใหญ่ร้อยละ 90 ยังมีความเห็นว่าการเจ็บป่วยทางจิตมีสาเหตุมาจาก ได้รับความกดดันทางจิตใจอย่างรุนแรงมากกว่าทางไสยศาสตร์ซึ่งนับว่ากลุ่มตัวอย่าง มีความรู้ และเข้าใจ เกี่ยวกับเรื่องสุขภาพจิต และผู้มีปัญหาทางจิตได้อย่างถูกต้อง ซึ่งจะเห็นได้จากการให้คำแนะนำแก่ผู้มีปัญหาครอบครัวโดยส่วนใหญ่ร้อยละ 93.33 จะให้ปรึกษาหารือ และช่วยกันแก้ปัญหามากกว่าแนะนำให้ไปสะเดาะเคราะห์ หรือรดน้ำมนต์ 3. เกี่ยวกับทัศนคติของกลุ่มตัวอย่างที่มีต่อผู้ป่วยจิตเวช ส่วนใหญ่ร้อยละ 98.33 จะสงสารมากกว่ากลัวหรือรังเกียจ ประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยพบว่าเคยและไม่เคยมีสัดส่วนใกล้เคียงกัน คือร้อยละ 28 และ 32 ตามลำดับ ส่วนใหญ่ร้อยละ 53.34 จะลำบากใจในการดูแลผู้ป่วย เพราะไม่มีความรู้ในการควบคุม แต่กลุ่มที่ไม่มีประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยมาก่อน จะไม่ลำบากใจ สามารถดูแลได้ถ้าเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลคอยให้ความช่วยเหลือและแนะนำ นอกจากนั้นส่วนใหญ่ร้อยละ 88.33 คิดว่าผู้ป่วยยังมีประโยชน์ต่อครอบครัวและสังคมอยู่บ้าง ถ้าได้รับการดูแลช่วยเหลือจากครอบครัวผู้ป่วย และจากโรงพยาบาลอย่างสม่ำเสมอ

Keywords: community, psychiatry, จิตเวช, จิตเวชศาสตร์, ชุมชน, พระ, พระสงฆ์, พุทธศาสนา, ศาสนา, ศาสนาพุทธ

ปีที่เผยแพร่/Year: 2539

Address: โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

Code: 319390000030

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: นิพนธ์ต้นฉบับ

Download: -