ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: กองแผนงานสาธารณสุข

ชื่อเรื่อง/Title: การพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารทางการเงินเพื่อการบริหารโดยใช้ระบบบัญชีเสริม

แหล่งที่มา/Source: เอกสารการวิจัย พ.ศ. 2532

รายละเอียด / Details:

ระบบข้อมูลข่าวสารทางการบริหารและทางการเงินของโรงพยาบาลของรัฐในปัจจุบัน ไม่สามารถสนองตอบวัตถุประสงค์ในการหาต้นทุนต่อหน่วยการให้บริการของโรงพยาบาลได้ งานวิจัยนี้ได้พยายามพัฒนาระบบข้อมูลโดยใช้หลักการกำหนดฝ่าย งานและกลุ่มงานทุกแห่งของโรงพยาบาลเป็นหน่วยต้นทุน 4 กลุ่ม ได้แก่ 1. กลุ่มไม่ก่อให้เกิดรายได้ 2. กลุ่มก่อให้เกิดรายได้ 3. กลุ่มบริการผู้ป่วยโดยตรง 4. กลุ่มบริการที่ไม่เกี่ยวกับผู้ป่วย ต้นทุนรวมของกลุ่ม 1., 2. จะกระจายมายังกลุ่ม 3. และ 4 เมื่อหารต้นทุนทั้งหมดของกลุ่ม 3. ด้วยปริมาณครั้งผู้ป่วยนอก รายผู้ป่วยในและวันป่วย จะได้ต้นทุนต่อครั้งผู้ป่วยนอกต่อรายผู้ป่วยในและต่อวันป่วยตามแผนกของผู้ป่วย นอกจากนั้นงานวิจัยนี้ได้พัฒนาระบบการเก็บข้อมูลรายได้เพื่อให้ทราบแหล่งที่มาและลักษณะของรายได้ ได้ดำเนินการทดลอง ณ โรงพยาบาล 8 แห่ง คือโรงพยาบาลดอยสะเก็ด และโรงพยาบาลเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ โรงพยาบาลศรีบุญเรือง และโรงพยาบาลอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี โรงพยาบาลท่าใหม่ และโรงพยาบาลพระปกเกล้า จังหวัดจันทบุรี โรงพยาบาลไชยาและโรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี ระหว่างเดือนเมษายน-พฤศจิกายน 2531 ผลการศึกษาพบว่าต้นทุนค่าแรง:ต้นทุนค่าวัสดุ:ต้นทุนค่าลงทุน = 5:4:1 ต้นทุนที่ไม่ได้เรียกเก็บค่าบริการ (routine service cost) และต้นทุนที่เก็บค่าบริการเป็น 55% และ 45% ตามลำดับ ต้นทุนต่อครั้งผู้ป่วยนอกของโรงพยาบาลชุมชนและโรงพยาบาลศูนย์เป็น 68 บาท และ 122 บาท ตามลำดับ ต้นทุนต่อรายผู้ป่วยในของโรงพยาบาลชุมชนและโรงพยาบาลศูนย์เป็น 1,203 บาท และ 2,221 บาท ตามลำดับ ต้นทุนต่อวันป่วยในโรงพยาบาลชุมชนและโรงพยาบาลศูนย์เป็น 507 และ 387 บาท ตามลำดับในส่วนของอัตราคืนทุนพบว่าร้อยละของค่าบริการเรียกเก็บและรายได้จริงต่อต้นทุนผู้ป่วยนอกของโรงพยาบาลชุมชนเท่ากับ 59 และ 47 ตามลำดับ ส่วนในโรงพยาบาลศูนย์เท่ากับ 67 และ 38 ตามลำดับ ร้อยละของค่าบริการที่เรียกเก็บและรายได้จริงต่อต้นทุนผู้ป่วยในของโรงพยาบาลชุมชนเท่ากับ 46 และ 25 ตามลำดับ ส่วนโรงพยาบาลศูนย์เท่ากับ 73 และ 42 ตามลำดับ เมื่อพิจารณาถึงความเป็นไปได้เชิงเทคนิคในการจัดทำระบบข้อมูลข่าวสารทางการบริหารและการเงินนี้ พบว่ามีความเป็นไปได้สูงแต่ยังมีปัญหาอุปสรรคสืบเนื่องจากระบบการทำงานเดิม ซึ่งต้องอาศัยกลไกทางการบริหารจัดการของโรงพยาบาลว่าผู้บริหารยังมีไม่มากเพียงพอที่จะให้ระบบข้อมูลข่าวสารใหม่นี้คงอยู่ได้หลังการวิจัยครั้งนี้ หากไม่สามารถแก้ปัญหาความซ้ำซ้อนของงานใหม่กับระบบเดิมได้

Keywords: economics, finance, financial, psychiatry, , การเงิน, ข้อมูลข่าวสาร, จิตเวช, , จิตเวชศาสตร์, บริหาร, เศรษฐศาสตร์

ปีที่เผยแพร่/Year: 2532

Address: กองแผนงานสาธารณสุข สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงสาธารณสุข

Code: 331320000003

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: นิพนธ์ต้นฉบับ

Download: -