ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: พิทักษ์ ศิริวัฒนเมธานนท์, บุษบา ใจกล้า, ศรีสุรางค์ ดวงประเสริฐ, สุนันท์ แสวงทรัพย์, ยุภาพร หอมจันทร์, วาสนา เชิดผล, ประหยัด เชิดผล

ชื่อเรื่อง/Title: การดูแลสุขภาพตนเองของผู้สูงอายุ จังหวัดนครนายก

แหล่งที่มา/Source: เอกสารการวิจัย พ.ศ. 2538

รายละเอียด / Details:

การศึกษาพฤติกรรมการดูแลสุขภาพตนเองของกลุ่มผู้สูงอายุ ครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยใช้วิธีการเก็บข้อมูลแบบสัมภาษณ์ระดับลึก อภิปรายกลุ่มการสังเกตุและการซักประวัติด้านสุขภาพ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ เพื่อทราบถึงสภาพการณ์และแบบแผนพฤติกรรมการดูแลสุขภาพตนเองของกลุ่มผู้สูงอายุในปัจจุบัน นำข้อมูลดังกล่าวมาใช้ในการกำหนดข่าวสารที่เหมาะสม และทดลองหาวิธีการดำเนินงานสุขศึกษาแนวใหม่ที่มีประสิทธิภาพ เปรียบเทียบกับวิธีการที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม กลุ่มตัวอย่างวิจัยได้แก่ ผู้สูงอายุ จำนวน 300 คน โดยคัดเลือกแบบ Multi Stage cluster Sampling ใช้แบบสัมภาษณ์ระดับลึก การอภิปรายกลุ่มและการประเมินผล Quasi-experimental design โดยใช้วิธี Pre-test และ Post-test การเก็บข้อมูลทางสถิติมีการปรับข้อมูลเชิงคุณภาพเป็นข้อมูลเชิงปริมาณ โดยใช้อัตราส่วน 0, 1, 2, 3 และนำมาวิเคราะห์โดยใช้โปรแกรม SPSS/PC+ ใช้ค่าความถี่และร้อยละ ผลการศึกษาพบว่า ผู้สูงอายุส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง (ร้อยละ 56.2) มีอายุอยู่ระหว่าง 60-69 ปี สถานภาพสมรสคู่และยังอยู่ด้วยกับคู่สมรสและบุตรหลาน (ร้อยละ 70.3) จบการศึกษาระดับประถมศึกษา (ร้อยละ 67) นับถือศาสนาพุทธ ประกอบอาชีพเกษตรกรรม และรับจ้างมีรายได้อยู่ระหว่าง 1,000-2,999 บาทต่อเดือน สุขภาพร่างกายโดยทั่วไปยังแข็งแรงมีน้ำหนักอยู่ระหว่าง 50-59 กิโลกรัม ส่วนสูง 150-159 เซนติเมตร และมักชอบช่วยเหลือตนเองในการดำรงชีพประจำวัน การแนะนำและได้รับคำแนะนำเกี่ยวกับสุขภาพอนามัย พบว่า บทบาทในการให้คำแนะนำด้านสุขภาพอนามัยแก่บุตรหลานลดลง แต่ผู้สูงอายุมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ในการเลี้ยงดูบุตรหลาน การให้อาหารเสริม (ร้อยละ 91) การฉีดวัคซีน (ร้อยละ 44.4) การฝากครรภ์ (ร้อยละ 38.7) การดูแลหลังคลอด (ร้อยละ 28) การงดอาหารแสลง (ร้อยละ 28.7) และการคุมกำเนิด (ร้อยละ 20.1) การดูแลสุขภาพตนเองของผู้สูงอายุเกี่ยวกับสภาพความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวัน พบว่า ผู้สูงอายุส่วนใหญ่จะนอนหัวค่ำ และตื่นบ่อยกลางดึก เพื่อลุกไปขับถ่าย แล้วจะนอนไม่หลับ กิจกรรมที่ทำขณะที่นอนไม่หลับส่วนใหญ่สูบบุหรี่ ดูแลความเรียบร้อยภายในบ้านและนอนเฉยๆ หลังจากให้คำแนะนำและติดตามเปลี่ยนพฤติกรรมโดยการนอนกลางวันลดลง ไม่นอนแต่หัวค่ำไม่ควรดื่มน้ำมากก่อนนอน ออกกำลังกาย และทำจิตใจให้ปลอดโปร่ง ดื่มน้ำตอนเช้าหลังจากตื่นนอนช่วยทำให้ระบบขับถ่ายดีขึ้น การบริโภคอาหาร การดื่มน้ำ การสูบบุหรี่ และเคี้ยวหมาก และการชำระล้างร่างกายของผู้สูงอายุส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์ดี หลังการมีการใช้ความรู้เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การดูแลตนเองเมื่อเจ็บป่วย พบว่า มีการตัดสินใจเลือกและเชื่อถือในงานบริการสาธารณสุขของรัฐเป็นส่วนใหญ่ และรู้จักอาสาสมัครสาธารณสุขในหมู่บ้าน ตลอดจนขอรับคำแนะนำจากอาสาสมัครดังกล่าว หลังจากมีการให้ความรู้เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ด้านความเชื่อ และประเพณีวัฒนธรรม ที่ใช้ในการดูแลสุขภาพตนเองพบว่า ครึ่งหนึ่งยังคงมีความเชื่อเรื่องผี การรดน้ำมนต์ และทำบายศรีสู่ขวัญ โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุที่นับถือศาสนาพุทธ การใช้สมุนไพรรักษาโรคส่วนใหญ่ (ร้อยละ 70.3) รู้จักพืชสมุนไพรแต่ไม่เคยนำมาใช้ และให้เหตุผลว่าให้ผลในการรักษาได้ไม่ดีเท่ายาในปัจจุบัน

Keywords: behavior, behaviour, culture, geriatrics, psychiatry, จิตเวช, จิตเวชศาสตร์, ผู้สูงอายุ, พฤติกรรม, พฤติกรรมสุขภาพ, พุทธศาสนา, วัฒนธรรม, ศาสนาพุทธ, สมุนไพร

ปีที่เผยแพร่/Year: 2538

Address: สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครนายก กระทรวงสาธารณสุข

Code: 332380000001

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: นิพนธ์ต้นฉบับ

Download: -