ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: รุจา เล้าสกุล

ชื่อเรื่อง/Title: การศึกษาสภาพและปัญหาของบริการสุขภาพจิตชุมชนในประเทศไทย

แหล่งที่มา/Source: เอกสารการวิจัย พ.ศ. 2522

รายละเอียด / Details:

วัตถุประสงค์ในการวิจัยเรื่องนี้เพื่อ 1. ศึกษาสภาพของงานสุขภาพจิตชุมชน 2. ศึกษาสภาพการดำเนินงานบริการสุขภาพจิตชุมชน 3. ศึกษาปัญหาของบริการสุขภาพจิตชุมชน และ 4. รวบรวมความคิดเห็นของหน่วยงานที่มีต่อบริการสุขภาพจิตชุมชน ประชากรที่ศึกษาได้แก่ หัวหน้าหน่วยงานหรือตัวแทนจากหน่วยงานบริการสุขภาพจิตของรัฐ จำนวน 36 แห่งทั่วประเทศ การเก็บข้อมูลได้จัดทำโดยติดต่อเป็นทางการขอความร่วมมือสอบถามจากหัวหน้าหน่วยงาน โดยได้รับแบบสอบถามจำนวน 33 ชุดกลับคืนมาจากหน่วยงาน 36 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 91.67 ผลการวิจัยปรากฎว่า หน่วยงานทั้งหมดสามารถจัดจำแนกได้เป็น 3 ประเภท คือ หน่วยงานสุขภาพจิตและจิตเวชของกรมการแพทย์ หน่วยจิตเวชในโรงพยาบาลทั่วไปและคลินิกสุขภาพจิตในมหาวิทยาลัย ซึ่งหน่วยงานเหล่านี้ส่วนมากสังกัดกระทรวงสาธารณสุขและทบวงมหาวิทยาลัย โดยสถานที่ตั้งยังรวมตัวกันอยู่ในส่วนกลางมากกว่าส่วนภูมิภาค สภาพของงานสุขภาพจิตชุมชนมีดังนี้ 1. งานป้องกันขั้นแรกอันหมายถึงงานเผยแพร่ให้ความรู้แก่ชุมชน ได้มีการจัดทำอยู่ในระดับค่อนข้างมาก 2. งานป้องกันขั้นที่สอง อันหมายถึงงานบำบัดรักษาในระยะเริ่มแรก ได้จัดทำมากกว่างานอื่น 3. งานป้องกันขั้นที่สาม อันหมายถึงงานฟื้นฟูสมรรถภาพ ได้จัดทำอยู่ในระดับค่อนข้างน้อย สภาพการดำเนินงานบริการสุขภาพจิตชุมชนของหน่วยงานส่วนมากเป็นดังนี้ 1. แนวความคิด เน้นการลดอัตราผู้ป่วยจิตเวชและขยายบริการสุขภาพจิตสู่ชุมชน 2. นโยบาย เน้นการให้บริการเท่าที่พึงจัดทำได้และการฝึกอบรมบุคลากร 3. การวางแผน เน้นการจัดทำโครงการเฉพาะในหน่วยงาน และทำแผนงานให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาฯ แห่งชาติ 4. การประสานงาน เน้นการประสานงานด้านบุคลากรและด้านแผนงาน 5. การสนับสนุนหน่วยงาน ส่วนมากเป็นการสนับสนุนสถาบันการศึกษา 6. การบริการประชาชน หน่วยงานได้รับความร่วมมือจากชุมชนน้อยมาก ปัญหาที่สำคัญได้พบว่า ปัญหาบุคลากรมีปริมาณไม่เพียงพอเป็นปัญหามากที่สุด ส่วนปัญหาสภาพการปฏิบัติงานที่หน่วยงานได้รับมอบหมายภาระหน้าที่เกินกำลังความสามารถก็จัดอยู่ในระดับค่อนข้างมากรองลงมาปัญหาอื่นๆ ต่อไปนี้เป็นปัญหาในระดับค่อนข้างน้อย ได้แก่ ยังมีความขาดแคลนในบางหน่วยงาน ด้านวิชาการ งบประมาณ วัสดุอุปกรณ์ การประสานงานในการบริหารงานและความร่วมมือจากชุมชน หัวหน้าหน่วยงานหรือตัวแทนส่วนมากมีความคิดเห็นว่าควรมีสถาบันสุขภาพจิตแห่งชาติ เพื่อเป็นศูนย์กลางด้านการบริหาร วิชาการและบริการ พร้อมทั้งได้ให้ข้อเสนอแนะว่าการที่จะให้บริการสุขภาพจิตได้อย่างทั่วถึงควรจะต้องเพิ่มหน่วยงานและบุคลากรที่มีคุณภาพให้กระจายไปอยู่ตามส่วนภูมิภาคมากขึ้น และจะต้องเผยแพร่ความรู้เรื่องสุขภาพจิตให้แก่ประชาชนอย่างแพร่หลาย

Keywords: community, psychiatry, service, จิตเวช, จิตเวชศาสตร์, ชุมชน, บริการ, สุขภาพจิตศึกษา

ปีที่เผยแพร่/Year: 2522

Address: มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทบวงมหาวิทยาลัย

Code: 370220000003

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: นิพนธ์ต้นฉบับ

Download: -