ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: ศุภลักษณ์ เกื้อวรกุลชัย

ชื่อเรื่อง/Title: สุขภาพจิตของครูในเขตแทรกซึมของผู้ก่อการร้าย จังหวัดชายแดนภาคใต้

แหล่งที่มา/Source: เอกสารการวิจัย พ.ศ. 2525

รายละเอียด / Details:

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาภาวะสุขภาพจิตของครูในเขตแทรกซึมของผู้ก่อการร้าย จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยพิจารณาสุขภาพจิตของครูแยกตามเพศ อายุ ศาสนา สถานภาพสมรส ที่พักอาศัย จำนวนปีของการสอนและการถูกคุกคามจากผู้ก่อการร้ายและเพื่อเปรียบเทียบสุขภาพจิตของครูในเขตแทรกซึมของผู้ก่อการร้ายกับครูนอกเขตแทรกซึมของผู้ก่อการร้าย กลุ่มตัวอย่าง คือ ครูในเขตแทรกซึมของผู้ก่อการร้าย ระดับประถมศึกษา 285 คน และระดับมัธยมศึกษา 45 คน รวม 340 คน และครูนอกเขตแทรกซึมของผู้ก่อการร้ายระดับประถมศึกษา 275 คน และระดับมัธยมศึกษา 65 คน รวม 340 คน เครื่องมือที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูลเป็นแบบสอบถาม SCL-90 วิเคราะห์ข้อมูลโดยหาค่าร้อยละ มัชฌิมเลขคณิต ความเบี่ยงเบนมาตรฐาน การทดสอบค่าที การวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียวและทดสอบหลังการวิเคราะห์ความแปรปรวนแล้วด้วยวิธี LSD ผลการวิจัยพบว่า 1. ครูในเขตแทรกซึมของผู้ก่อการร้ายมีปัญหาสุขภาพจิตมากกว่าครูนอกเขตแทรกซึมของผู้ก่อการร้าย อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 โดยเฉพาะด้านความกลัวโดยไม่มีเหตุผล วิตกกังวลก้าวร้าวและหวาดระแวง แต่ถึงอย่างไรภาวะสุขภาพจิตของครูในเขตแทรกซึมของผู้ก่อการร้ายก็ยังอยู่ในระดับของคนปกติ 2. ครูชายกับครูหญิงในเขตแทรกซึมของผู้ก่อการร้าย มีสุขภาพจิตแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 โดยครูชายมีแนวโน้มที่จะมีสุขภาพจิตดีกว่าครูหญิง 3. ครูในเขตแทรกซึมของผู้ก่อการร้ายที่ระดับอายุต่างกันมีสุขภาพจิตแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 โดยครูที่มีอายุระหว่าง 20-29 ปี มีแนวโน้มที่จะมีปัญหาสุขภาพจิตมากกว่าครูที่มีอายุระหว่าง 30-39 ปี และ 40 ปีขึ้นไป 4. ครูในเขตแทรกซึมของผู้ก่อการร้ายที่มีจำนวนปีของการสอนต่างกัน มีสุขภาพจิตแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 โดยครูที่มีจำนวนปีของการสอน 1-3 ปี มีแนวโน้มที่จะมีปัญหาสุขภาพจิตมากกว่าครูที่มีจำนวนปีของการสอน 4-6 ปี และ 10 ปีขึ้นไป 5. ครูในเขตแทรกซึมที่เคยถูกคุกคามจากผู้ก่อการร้ายมีปัญหาสุขภาพจิตมากกว่าครูที่ไม่เคยถูกคุกคามจากผู้ก่อการร้าย อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระหว่าง .01 6. ครูในเขตแทรกซึมของผู้ก่อการร้ายที่มีความแตกต่างกันทางด้านศาสนา สถานภาพสมรส และที่พักอาศัยมีสุขภาพจิตโดยทั่วไปไม่แตกต่างกัน

Keywords: psychiatry, SCL-90, stress, ครู, ความเครียด, เครียด, จิตเวช, จิตเวชศาสตร์

ปีที่เผยแพร่/Year: 2525

Address: มหาวิทยาลัยมหิดล ทบวงมหาวิทยาลัย

Code: 371250000015

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: นิพนธ์ต้นฉบับ

Download: -