ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: ถาวร บุตรโสมดา

ชื่อเรื่อง/Title: สุขภาพจิตของผู้ป่วยทหารราชการสนามที่มารับการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า

แหล่งที่มา/Source: เอกสารการวิจัย พ.ศ. 2525

รายละเอียด / Details:

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสุขภาพจิตของผู้ป่วยทหารราชการสนามที่มารับการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า โดยตั้งสมมุติฐานการวิจัยไว้ว่า สภาวะสุขภาพจิตของผู้ป่วยทหารราชการสนามแตกต่างกันตามตัวแปร สถาบันการศึกษา สถานภาพสมรส ชั้น ยศ อายุและระดับความพิการ นอกจากนี้เพื่อที่จะทราบปัญหาและข้อเสนอแนะต่างๆ เพื่อนำมาเป็นแนวทางให้เจ้าหน้าที่ตระหนักถึงความสำคัญในการให้บริการพยาบาล โดยคำนึงถึงด้านสุขภาพจิตของผู้ป่วยทหารราชการสนาม ในการศึกษาครั้งนี้ใช้ผู้ป่วยทหารราชการสนามที่ป่วยอยู่ในโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ในช่วงที่ผู้วิจัยเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดจำนวน 139 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลคือแบบสอบถาม 2 ชุด ชุดที่ 1 เป็นแบบสอบถามที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นเองมี 20 ข้อ ชุดที่ 2 เป็นแบบทดสอบที่วัดสุขภาพจิตมีชื่อว่า Symtom checklist-90 หรือ SCL-90 เป็นแบบทดสอบมาตราส่วนให้ค่า (Rating Scale) ที่ประกอบด้วยข้อความซึ่งแสดงอาการต่างๆ ด้วยคำถามสั้นๆ 90 ข้อ แบ่งตามลักษณะสุขภาพจิต 10 ด้าน ซึ่งคณะนักจิตวิทยาแห่งโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยาได้ดัดแปลงมาใช้เป็นแบบทดสอบสุขภาพจิตและได้ทำการวิเคราะห์แล้วว่า ใช้เป็นแบบทดสอบสุขภาพจิตของคนไทยได้ โดยมีค่าเกณฑ์ปกติเทียบไว้ด้วย ค่าคะแนนดิบและค่า T-Score ซึ่งได้หาความเชื่อมั่นได้เท่ากับ 0.83 การเก็บข้อมูลทำโดยผู้วิจัยได้ส่งแบบสอบถามและแบบทดสอบนี้ให้ผู้ป่วยทหารราชการสนามตอบด้วยตนเอง จำนวน 160 ฉบับ ได้กลับคืนมา 139 ฉบับ คิดเป็นร้อยละ 86.87 ข้อมูลที่ได้นำมาวิเคราะห์ทางสถิติด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ในการหาค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทดสอบค่าที (t-test) ผลการวิจัยพบว่า 1. ผู้ป่วยทหารราชการสนามส่วนใหญ่เป็นทหารชั้นประทวน โสด อายุอยู่ในระหว่าง 21-29 ปี จบการศึกษาจากสถาบันทหาร 2. ผู้ป่วยทหารราชการสนามส่วนใหญ่สมัครมาเป็นทหารเพราะรักชีวิตทหาร ออกปฏิบัติงานชายแดนเพราะต้องการมีประสบการณ์ สาเหตุที่ได้รับบาดเจ็บส่วนใหญ่ถูกระเบิดและได้รับความพิการในระดับน้อยกว่าร้อยละ 50 ของค่าความพิการต่อร่างกายทั้งหมด 3. ผู้ป่วยทหารราชการสนามที่ผ่านการศึกษาจากสถาบันทหารโดยตรงมีสภาวะสุขภาพจิตดีกว่าผู้ป่วยทหารราชการสนามที่ผ่านการศึกษาจากสถาบันอื่นๆ ซึ่งมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 แต่ถึงอย่างไรทั้งสองกลุ่มก็อยู่ในเกณฑ์ภาวะสุขภาพจิตปกติ 4. ผู้ป่วยทหารราชการสนามที่มีสถานภาพโสด กับผู้ป่วยทหารราชการสนามที่มีสถานภาพสมรสมีสภาวะสุขภาพจิตไม่แตกต่างกัน 5. ผู้ป่วยทหารราชการสนามชั้นสัญญาบัตรกับผู้ป่วยทหารราชการสนามชั้นประทวนมีสภาวะสุขภาพจิตไม่แตกต่างกัน 6. ผู้ป่วยทหารราชการสนามที่มีอายุน้อย (21-39 ปี) กับผู้ป่วยทหารราชการสนามที่มีอายุมาก (40 ปีขึ้นไป) มีสภาวะสุขภาพจิตไม่แตกต่างกัน 7. ผู้ป่วยทหารราชการสนามที่มีความพิการน้อย (น้อยกว่าร้อยละ 50 ของค่าความพิการต่อร่างกายทั้งหมด) มีสภาวะสุขภาพจิตดีกว่าผู้ป่วยทหารราชการสนามที่มีความพิการมาก (มากกว่าร้อยละ 50 ของค่าความพิการต่อร่างกายทั้งหมด) ซึ่งมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 แต่ถึงอย่างไรทั้งสองกลุ่มก็อยู่ในเกณฑ์ภาวะสุขภาพจิตปกติ 8. ผู้ป่วยทหารราชการสนามมีระดับอาการทางด้านสุขภาพจิตโดยเฉลี่ยแล้วอยู่ในเกณฑ์ปกติ

Keywords: psychiatry, SCL-90, stress, ความเครียด, เครียด, จิตเวช, จิตเวชศาสตร์, ทหาร

ปีที่เผยแพร่/Year: 2525

Address: คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ทบวงมหาวิทยาลัย

Code: 371250000019

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: นิพนธ์ต้นฉบับ

Download: -