ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: เฉลิมชัย ปัญญาดี

ชื่อเรื่อง/Title: ปัจจัยที่สัมพันธ์กับความเครียดของผู้ย้ายถิ่นชาวชนบทภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่อยู่ในกรุงเทพมหานคร

แหล่งที่มา/Source: เอกสารการวิจัย พ.ศ. 2531

รายละเอียด / Details:

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ที่สำคัญเพื่อศึกษาระดับความเครียดของผู้ย้ายถิ่นชาวชนบทภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่อยู่ในกรุงเทพมหานคร และเพื่อศึกษาปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับความเครียดของผู้ย้ายถิ่นชาวชนบทภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่อยู่ในกรุงเทพฯ รวมทั้งเพื่อศึกษาถึงอิทธิพลทั้งทางตรงและทางอ้อมของการย้ายถิ่นที่มีต่อความเครียดของผู้ย้ายถิ่นชาวชนบทภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่อยู่ในกรุงเทพฯ ซึ่งปัจจัยที่นำมาศึกษาคือ ความรู้สึกเห็นคุณค่าตนเอง ความทันสมัย ความมีอิสระในการทำงาน รายได้กลุ่มสังคม ประสบการณ์ในการย้ายถิ่นและระยะเวลาในการย้ายถิ่น กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ย้ายถิ่นชาวชนบทภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่อยู่ในกรุงเทพฯ และทำงานอยู่ในโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้น 390 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสัมภาษณ์ ประกอบด้วยเนื้อหา 5 ส่วนคือ ส่วนที่ 1 เป็นการศึกษาลักษณะทั่วไปทางประชากร ส่วนที่ 2 เป็นแบบวัดความรู้สึกเห็นคุณค่าในตนเอง ส่วนที่ 3 เป็นแบบวัดความทันสมัย ส่วนที่ 4 เป็นแบบวัดความมีอิสระในการทำงาน และ ส่วนที่ 5 เป็นแบบวัดความเครียด ทำการเก็บรวบรวมข้อมูลโดยวิธีการสัมภาษณ์และนำข้อมูลที่ได้ไปวิเคราะห์ด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ การวิเคราะห์ข้อมูลใช้ค่าสถิติร้อยละ ค่าเฉลี่ยมัชฌิมเลขคณิต ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การวิเคราะห์ถดถอยพหุคูณและการวิเคราะห์เส้นทาง ผลการวิจัยพบว่า 1. ระดับความเครียดของผู้ย้ายถิ่นชาวชนบทภาคตะวันออกเฉียงเหนือส่วนใหญ่ (ร้อยละ 73.56) อยู่ในระดับต่ำ รองลงมา (ร้อยละ 22.78) เป็นกลุ่มที่มีความเครียดระดับสูงปกติและกลุ่มที่มีความเครียดสูงมากมีน้อยที่สุด (ร้อยละ 3.66) 2. ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับความเครียดของผู้ย้ายถิ่นชาวชนบทภาคตะวันออกเฉียงเหนืออย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเรียงตามลำดับความสำคัญคือ ความรู้สึกเห็นคุณค่าในตนเอง รายได้ ความมีอิสระในการทำงาน ระยะเวลาในการย้ายถิ่น และสามารถอธิบายการผันแปรของความเครียดของผู้ย้ายถิ่นได้ร้อยละ 46.6 (R2 = 0.466;P‹0.01) 3. อิทธิพลทั้งทางตรงและทางอ้อมของการย้ายถิ่นที่มีต่อความเครียดของผู้ย้ายถิ่นชาวชนบทภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบว่า ระยะเวลาในการย้ายถิ่นมีอิทธิพลทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อความเครียดของผู้ย้ายถิ่น โดยอิทธิพลทางอ้อมส่งผ่านตัวแปรสำคัญคือ รายได้ กลุ่มสังคมและความทันสมัย โดยแบบจำลองนี้สามารถอธิบายการผันแปรของความเครียดของผู้ย้ายถิ่นได้ร้อยละ 42.25 (R2 = 0.422)

Keywords: community, psychiatry, social, stress, , ความเครียด, เครียด, จิตเวช, , จิตเวชศาสตร์, ชุมชน, ผู้อพยพ, สังคม

ปีที่เผยแพร่/Year: 2531

Address: บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล ทบวงมหาวิทยาลัย

Code: 371310000010

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: นิพนธ์ต้นฉบับ

Download: -