ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: ดวงกมล พึ่งประเสริฐ

ชื่อเรื่อง/Title: ผลของการให้คำปรึกษาของพยาบาลต่อระดับความวิตกกังวลและความรู้สึกมีคุณค่าในตนเองของผู้ป่วยทำแท้งผิดกฎหมาย

แหล่งที่มา/Source: เอกสารการวิจัย พ.ศ. 2534

รายละเอียด / Details:

การทำแท้งผิดกฎหมายเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในสตรีที่ตั้งครรภ์ไม่พึงปรารถนา และทำให้เกิดปัญหาทางด้านร่างกายและจิตสังคมแก่สตรีที่ทำแท้ง ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นจะมีผลคุกคามต่อชีวิตของผู้ป่วย ทำให้ผู้ป่วยเกิดความรู้สึกไม่เป็นสุข วิตกกังวล ยอมรับในคุณค่าของตนเองต่ำ การพยาบาลเพื่อลดความวิตกกังวลและส่งเสริมความรู้สึกมีคุณค่าในตนเองมีหลายวิธี เช่น การสัมผัส การฝึกผ่อนคลายกล้ามเนื้อ การให้ข้อมูลและการให้คำปรึกษา เป็นต้น การให้คำปรึกษาเป็นวิธีที่จะช่วยให้ผู้ป่วยได้เข้าใจตนเองและปัญหาที่เกิดขึ้น มีการรับรู้ถูกต้องตามความเป็นจริง ผู้วิจัยจึงสนใจศึกษาผลของการให้คำปรึกษาของพยาบาลต่อระดับความวิตกกังวล และความรู้สึกมีคุณค่าในตนเองของผู้ป่วยทำแท้งผิดกฎหมาย โดยใช้วิธีการวิจัยแบบกึ่งทดลอง กลุ่มตัวอย่างเป็นสตรีภายหลังทำแท้งผิดกฎหมายที่มีอาการแทรกซ้อน และมารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์และโรงพยาบาลวชิระ ในระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงกันยายน 2534 การเลือกกลุ่มตัวอย่างเป็นการเลือกแบบเจาะจง จำนวน 40 ราย โดยแบ่งกลุ่มตัวอย่างออกเป็นสองกลุ่ม คือ กลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม กลุ่มละ 20 คน กลุ่มทดลองได้รับการให้คำปรึกษาจากผู้วิจัยพร้อมทั้งได้รับการพยาบาลตามกิจวัตรจากพยาบาลประจำการร่วมด้วย และกลุ่มควบคุมได้รับการพยาบาลตามกิจวัตรจากพยาบาลประจำการเพียงอย่างเดียว เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ประกอบด้วย แบบสัมภาษณ์ข้อมูลส่วนตัว แบบทดสอบระดับความวิตกกังวล แบบทดสอบความรู้สึกมีคุณค่าในตนเอง ผู้วิจัยประเมินความวิตกกังวลและความรู้สึกมีคุณค่าในตนเองของกลุ่มตัวอย่าง 2 ครั้ง คือ ในวันแรกที่พบผู้ป่วยก่อนการทดลองและในวันที่ 3 หลังการทดลอง และเปรียบเทียบความแตกต่างของคะแนนความวิตกกังวล และความรู้สึกมีคุณค่าในตนเองของกลุ่มตัวอย่างโดยการวิเคราะห์ความแปรปรวนร่วม (ANOVA) ผลการวิจัยพบว่า กลุ่มที่ได้รับการให้คำปรึกษามีความวิตกกังวลต่ำกว่ากลุ่มที่ได้รับการพยาบาลตามกิจวัตร อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P ‹ .001) และกลุ่มที่ได้รับการให้คำปรึกษามีความรู้สึกมีคุณค่าในตนเองสูงกว่ากลุ่มที่ได้รับการพยาบาลตามกิจวัตรอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P < .001) ผลการวิจัยครั้งนี้ ผู้วิจัยมีข้อเสนอแนะคือ พยาบาลควรนำวิธีการให้คำปรึกษาใช้เพื่อลดความวิตกกังวลและส่งเสริมความรู้สึกมีคุณค่าในตนเองของผู้ป่วยทำแท้งผิดกฎหมาย เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเผชิญกับความเจ็บป่วยและปัญหาที่เกิดขึ้น สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างปกติสุข

Keywords: anxiety, counseling, counselling, psychiatric nursing, anxiety, self-esteem, ความวิตกกังวล, วิตกกังวล, การพยาบาลจิตเวช, พยาบาล

ปีที่เผยแพร่/Year: 2534

Address: บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล ทบวงมหาวิทยาลัย

Code: 371340000004

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: นิพนธ์ต้นฉบับ

Download: -