ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: เสาวภา วิชิตวาที

ชื่อเรื่อง/Title: ความสัมพันธ์ระหว่างความรู้สึกมีคุณค่าในตนเอง การสนับสนุนทางสังคมกับพฤติกรรมการดูแลตนเองของผู้ป่วยที่สูญเสียแขนขา

แหล่งที่มา/Source: เอกสารการวิจัย พ.ศ. 2534

รายละเอียด / Details:

ผู้พิการจากการสูญเสียแขนขาจากอุบัติเหตุนั้น ปัจจุบันมักจะพบในวัยหนุ่มสาว ซึ่งนับวันมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในแต่ละปี เมื่อมีความพิการเกิดขึ้นจะส่งผลต่อความสามารถในการดูแลตนเอง ทำให้เกิดปัญหาทางด้านร่างกายและจิตสังคมตามมา การช่วยเหลือฟื้นฟูสภาพร่างกายและจิตใจของผู้ที่สูญเสียแขนขาเป็นเรื่องจำเป็นเพื่อให้เขาสามารถดูแลตนเองได้ดี ฉะนั้นในการดูแลผู้ป่วย พยาบาลจำเป็นต้องทราบถึงปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการดูแลตนเองของผู้ป่วย เพื่อใช้เป็นแนวทางในการส่งเสริมให้ผู้ป่วยสามารถดำรงชีวิตได้อย่างปกติสุข การวิจัยครั้งนี้ใช้กรอบทฤษฎีการดูแลตนเองของโอเรม ศึกษาถึงความสัมพันธ์ระหว่างความรู้สึกมีคุณค่าในตนเอง การสนับสนุนทางสังคมกับพฤติกรรมการดูแลตนเองของผู้ป่วยที่สูญเสียแขนขา กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยนอกที่ได้รับการตัดแขนและ/หรือขา (Amputee) และมาติดตามการรักษาที่หน่วยกายอุปกรณ์ที่โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า และ โรงพยาบาลเลิศสิน จำนวน 100 ราย เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย แบบบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับความพิการที่ได้รับ แบบสอบถามข้อมูลส่วนตัวแบบสอบถามความรู้สึกมีคุณค่าในตนเอง แบบสอบถามการสนับสนุนทางสังคมและแบบสอบถามพฤติกรรมการดูแลตนเองของผู้ป่วยที่สูญเสียแขนขา วิเคราะห์ข้อมูลโดยหาค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของเพียร์สัน ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์พหุคูณ และเลือกกลุ่มตัวทำนายที่ดีที่สุด โดยใช้การวิเคราะห์ถดถอยพหุคูณแบบขั้นตอน ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้ 1. ความรู้สึกมีคุณค่าในตนเอง มีความสัมพันธ์ทางบวกกับพฤติกรรมการดูแลตนเองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 (r = .2254) 2. การสนับสนุนทางสังคมมีความสัมพันธ์ทางบวกกับพฤติกรรมการดูแลตนเองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .001 (r = .6467) 3. อายุมีความสัมพันธ์ทางลบกับพฤติกรรมการดูแลตนเองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 (r = -.1708) 4. ระยะเวลาที่สูญเสียแขนขามีความสัมพันธ์ทางลบกับพฤติกรรมการดูแลตนเองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .001 (r = -.4052) 5. ผลการวิเคราะห์ถดถอยพหุคูณแบบขั้นตอน พบว่าการสนับสนุนทางสังคมและระยะเวลาที่สูญเสียแขนขาจนถึงปัจจุบัน เป็นกลุ่มตัวทำนายที่ดีที่สุด สามารถร่วมทำนายพฤติกรรมการดูแลตนเองได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 โดยสามารถทำนายพฤติกรรมการดูแลตนเองได้ร้อยละ 47.13 ผลการวิจัยครั้งนี้ ผู้วิจัยมีข้อเสนอแนะคือ พยาบาลควรตระหนักถึงบทบาทของตนในการส่งเสริมบุคคลในเครือข่ายสังคมของผู้ป่วยให้ความช่วยเหลือดูแลผู้ป่วยอย่างเหมาะสม ส่งเสริมความรู้สึกมีคุณค่าในตนเองของผู้ป่วยและพยาบาลควรทำงานประสานกับนักกายภาพบำบัดและอาชีวบำบัด ในการให้ความรู้และคำแนะนำที่ถูกต้องเกี่ยวกับการปฎิบัติตัว และการฟื้นฟูสภาพร่างกาย เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถดำรงชีวิตได้อย่างปกติสุข

Keywords: accident, occupational therapy, psychiatry, psychology, social, กายภาพบำบัด, คนพิการ, จิตเวช, จิตเวชศาสตร์, จิตวิทยา, ผู้พิการ, สังคม, อาชีวบำบัด, อุบัติเหตุ

ปีที่เผยแพร่/Year: 2534

Address: บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล ทบวงมหาวิทยาลัย

Code: 371340000013

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: นิพนธ์ต้นฉบับ

Download: -