ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: ผจงพร สุภาวิตา

ชื่อเรื่อง/Title: ผลของสื่ออารมณ์ขันต่อระดับความเครียดในผู้ป่วยบาดเจ็บกระดูกขาและได้รับการดึงถ่วงกระดูก

แหล่งที่มา/Source: เอกสารการวิจัย พ.ศ. 2534

รายละเอียด / Details:

การดึงถ่วงกระดูกในผู้ป่วยกระดูกขาหัก มีเป้าหมายเพื่อลดความเจ็บปวด การหดเกร็งของกล้ามเนื้อบริเวณกระดูกหักและแก้ไขความพิการของกระดูก แต่การดึงถ่วงกระดูกนั้นเป็นการจำกัดความเคลื่อนไหว ก่อให้เกิดความไม่สุขสบายและความเครียดแก่ผู้ป่วย ความเครียดดังกล่าวก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านสรีระ จิตใจและพฤติกรรมจนอาจกลายเป็นอุปสรรคต่อการรักษา การพยาบาลเพื่อลดความเครียดให้แก่ผู้ป่วยมีหลายวิธี เช่น การให้ข้อมูลและคำอธิบาย การลดสิ่งกระตุ้นและการเบี่ยงเบนความสนใจ เป็นต้น สื่ออารมณ์ขันจัดเป็นสิ่งกระตุ้นประเภทหนึ่งที่ใช้เป็นเครื่องมือเบี่ยงเบนความสนใจของผู้ป่วยจากสิ่งเร้าและอารมณ์ขันยังเป็นตัวต้านความเครียด ดังนั้นผู้วิจัยจึงสนใจศึกษาผลของสื่ออารมณ์ขันต่อระดับความเครียดในผู้ป่วยบาดเจ็บกระดูกขา และได้รับการดึงถ่วงกระดูก กลุ่มตัวอย่างที่ศึกษาเป็นผู้ป่วยชายที่ได้รับบาดเจ็บกระดูกขาจากอุบัติเหตุ และได้รับการดึงถ่วงกระดูก ณ แผนกศัลยกรรม ตึกมหิดลบำเพ็ญ 1 โรงพยาบาลศิริราชและตึกพิบูลสงครามชั้น 1, 2 และ 3 โรงพยาบาลตำรวจ จำนวน 60 ราย แบ่งกลุ่มตัวอย่างออกเป็น 2 กลุ่มเท่าๆ กัน โดยการเลือกตัวอย่างแบบเฉพาะเจาะจงตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้แล้วสุ่มผู้ป่วยกลุ่มทดลองจะได้รับสื่ออารมณ์ขัน ส่วนกลุ่มควบคุมจะไม่ได้รับสื่ออารมณ์ขัน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย สื่ออารมณ์ขัน แบบบันทึกข้อมูลส่วนตัวของผู้ป่วยและมาตรวัดความเครียด วิเคราะห์ข้อมูลโดย t-test ผลการวิจัยพบว่า ผู้ป่วยกลุ่มทดลอง มีระดับความเครียดต่ำกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p ‹ .0005) ผลการศึกษาครั้งนี้ ผู้วิจัยมีข้อเสนอแนะคือ พยาบาลควรนำสื่ออารมณ์ขันไปใช้เป็นเครื่องมือในการพยาบาล เพื่อลดความเครียดของผู้ป่วยที่เข้ามารับการรักษาในโรงพยาบาลทุกแผนก ในการศึกษาครั้งต่อไปควรนำสื่ออารมณ์ขันไปใช้กับผู้ป่วยโรคเรื้อรังอื่นๆ

Keywords: media, psychiatry, stress, เครียด, ความเครียด, จิตเวช, จิตเวชศาสตร์, สื่อ, อารมณ์ขัน

ปีที่เผยแพร่/Year: 2534

Address: บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล ทบวงมหาวิทยาลัย

Code: 371340000016

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: นิพนธ์ต้นฉบับ

Download: -