ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: ภัสพร ขำวิชา

ชื่อเรื่อง/Title: ผลของการสัมผัสต่อความวิตกกังวลของผู้ป่วยก่อนผ่าตัด

แหล่งที่มา/Source: เอกสารการวิจัย พ.ศ. 2534

รายละเอียด / Details:

การผ่าตัดเป็นการคุกคามต่อชีวิตและเป็นสถานการณ์ที่วิกฤตของผู้ป่วยที่ก่อให้เกิดความเครียด ความวิตกกังวลแก่ผู้ป่วยได้เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในระยะก่อนผ่าตัดในขณะที่ผู้ป่วยต้องนอนรอทำผ่าตัดในห้องรอผ่าตัด ผู้ป่วยจะเกิดความกลัวโดยไม่ทราบสาเหตุ และต้องมาอยู่ในสิ่งแวดล้อมของห้องผ่าตัดที่แปลกใหม่ ต้องแยกจากบุคคลใกล้ชิด เป็นต้น ซึ่งจะยิ่งทำให้ผู้ป่วยมีความวิตกกังวลเพิ่มขึ้น ซึ่งความวิตกกังวลที่เกิดขึ้นอาจก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกาย จิตใจและพฤติกรรมต่อผู้ป่วยจนกลายเป็นปัญหาและอุปสรรคต่อการผ่าตัดได้ การพยาบาลเพื่อลดความวิตกกังวลมีหลายวิธี เช่น การสอนให้ผู้ป่วยผ่อนคลาย การจัดให้ผู้ป่วยฟังดนตรี และการสัมผัสเป็นต้น ดังนั้นผู้วิจัยจึงสนใจศึกษาผลของการสัมผัสต่อความวิตกกังวลของผู้ป่วยที่อยู่ในห้องรอผ่าตัด การศึกษาครั้งนี้เป็นการวิจัยกึ่งทดลอง โดยมีกลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยศัลยกรรมหญิงที่รับไว้รักษาในโรงพยาบาลวชิระ อายุระหว่าง 18-60 ปี ได้รับการลงความเห็นจากแพทย์ว่าไม่เป็นโรคทางระบบประสาทและโรคจิต ไม่เป็นโรคหัวใจ โดยได้รับการผ่าตัดด้วยวิธีการผ่าตัดและไม่ได้รับยาเตรียมก่อนผ่าตัดมาก่อน เป็นผู้ป่วยที่อยู่ในห้องรอผ่าตัดในแผนกห้องผ่าตัด โรงพยาบาลวชิรพยาบาล กลุ่มตัวอย่างจำนวน 60 ราย โดยแบ่งกลุ่มตัวอย่างออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม กลุ่มละเท่าๆ กัน กลุ่มทดลองได้รับการสัมผัสจากผู้วิจัย แต่กลุ่มควบคุมไม่ได้รับการสัมผัสขณะที่อยู่ในห้องรอผ่าตัด เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วยแบบสัมภาษณ์วัดความวิตกกังวล แบบเทรท แบบแผนการสัมผัส แบบบันทึกข้อมูลส่วนตัวและมาตรวัดความวิตกกังวล เปรียบเทียบคะแนนความวิตกกังวลที่ลดลงของกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม โดยใช้ t-test ผลการวิจัยพบว่า ผู้ป่วยกลุ่มทดลองมีคะแนนความวิตกกังวลก่อนผ่าตัดขณะที่อยู่ในห้องรอผ่าตัดลดลงมากกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญ (p ‹ .0005) ผลการศึกษาครั้งนี้ผู้วิจัยมีข้อเสนอแนะคือ พยาบาลควรนำการสัมผัสไปใช้เป็นเครื่องมือในการพยาบาล เพื่อลดความวิตกกังวลของผู้ป่วยหญิงที่อยู่ในห้องรอผ่าตัด ในการศึกษาครั้งต่อไปควรศึกษาผลของการสัมผัสในผู้ป่วยที่ได้รับยาระงับความรู้สึกเฉพาะบริเวณขณะที่ได้รับการผ่าตัดตลอดจนผู้ป่วยที่เข้ารับการตรวจวินิจฉัยและรักษาในแผนกอื่นๆ ของโรงพยาบาล ควรศึกษาเปรียบเทียบผลของการสัมผัสของพยาบาลที่นำไปใช้เพื่อลดความวิตกกังวลในผู้ป่วยชายกับผู้ป่วยหญิง และควรศึกษาการสัมผัสในผู้ป่วยที่มีปัญหาด้านอื่นๆ เช่น ความเจ็บปวด ความเครียด ความซึมเศร้า เป็นต้น

Keywords: anxiety, psychiatry, stress, เครียด, ความเครียด, จิตเวช, จิตเวชศาสตร์

ปีที่เผยแพร่/Year: 2534

Address: บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล ทบวงมหาวิทยาลัย

Code: 371340000017

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: นิพนธ์ต้นฉบับ

Download: -