ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: กัญญา บุญช่วย

ชื่อเรื่อง/Title: ประสิทธิผลของการควบคุมตนเองที่มีต่อการงดสูบบุหรี่ ของคนงานชายในวชิรพยาบาล

แหล่งที่มา/Source: เอกสารการวิจัย พ.ศ. 2535

รายละเอียด / Details:

การสูบบุหรี่เป็นอันตรายต่อสุขภาพทั้งของผู้ที่สูบและไม่สูบบุหรี่ การสูบบุหรี่เป็นสาเหตุของการเกิดโรคไม่ติดต่อที่ร้ายแรงต่างๆ เช่น โรคถุงลมโป่งพอง โรคหลอดเลือดโลหิตแดงแข็งตัว โรคมะเร็งปอด ในปัจจุบันยังมีคนงานชายของวชิรพยาบาลจำนวนหนึ่งสูบบุหรี่อยู่ ดังนั้นการวิจัยกึ่งทดลองครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประสิทธิผลของการควบคุมตนเองที่มีต่อพฤติกรรมการสูบบุหรี่ของคนงานชายในวชิรพยาบาล กรุงเทพมหานคร โดยมีกิจกรรมการควบคุมตนเอง การให้ความรู้ การสนทนากลุ่มและการกระตุ้นเตือน กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ คนงานชายที่สูบบุหรี่และสมัครใจเข้าร่วมการทดลองจำนวน 97 คน เป็นกลุ่มทดลอง 50 คน กลุ่มเปรียบเทียบ 47 คน กลุ่มทดลองได้เข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ที่ผู้วิจัยจัดขึ้น เครื่องมือที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูล คือ แบบสอบถาม บัตรบันทึกจำนวนบุหรี่ที่สูบในแต่ละวัน เครื่องมือที่ใช้ในการดำเนินการทดลอง คือ ภาพพลิก เอกสารความรู้เกี่ยวกับบุหรี่ เอกสารแผ่นพับ สติกเกอร์ บทสัมภาษณ์ผู้ที่งดสูบบุหรี่ได้แล้วและคู่มือการงดสูบบุหรี่ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น ทำการรวบรวมข้อมูล 2 ครั้ง คือ ก่อนการทดลองและหลังการทดลอง 1 เดือน การวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติร้อยละ และค่าเฉลี่ยสำหรับข้อมูลทั่วไป สถิติ Student’s t-test และ Paired Sample t-test สำหรับการเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างกลุ่มตัวอย่าง และการเปรียบเทียบความแตกต่างภายในกลุ่มตัวอย่างใช้สถิติ Chi-square และ Kendall’s taub ทดสอบความสัมพันธ์ของปัจจัยทางสังคม-เศรษฐกิจกับความรู้ ทัศนคติและการปฏิบัติเกี่ยวกับการสูบบุหรี่ และสถิติ Z-test สำหรับการเปรียบเทียบค่าสัดส่วนของจำนวนคนงานที่งดสูบบุหรี่ ผลการวิจัยพบว่า กิจกรรมการควบคุมตนเองที่จัดให้คนงานทำให้คนงานชายกลุ่มทดลองมีความรู้ ทัศนคติเกี่ยวกับการงดสูบบุหรี่ดีขึ้น คนงานชายกลุ่มทดลองร้อยละ 10 สามารถงดสูบบุหรี่ได้ ถึงแม้ว่าคนงานชายบางส่วนยังคงสูบบุหรี่ แต่ก็มีการสูบบุหรี่ในจำนวนมวนที่ลดลง นอกจากนี้ยังพบว่าปัจจัยทางสังคม-เศรษฐกิจได้แก่ ระดับการศึกษามีความสัมพันธ์กับความรู้เกี่ยวกับการสูบบุหรี่ และอายุมีความสัมพันธ์กับทัศนคติเกี่ยวกับการสูบบุหรี่ ส่วนการปฏิบัติเกี่ยวกับการงดสูบบุหรี่ พบว่า ไม่มีความสัมพันธ์กับปัจจัยทางสังคม-เศรษฐกิจ ผลการวิจัยครั้งนี้แสดงว่าวิธีการควบคุมตนเอง สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการปรับพฤติกรรมสุขภาพอื่นๆ ได้

Keywords: drug, psychiatry, จิตเวช, จิตเวชศาสตร์, บุคลากร, บุหรี่, ยาเสพติด

ปีที่เผยแพร่/Year: 2535

Address: บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล ทบวงมหาวิทยาลัย

Code: 371350000007

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: นิพนธ์ต้นฉบับ

Download: -