ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: สมบัติ สุขสมศักดิ์

ชื่อเรื่อง/Title: ผลของการใช้กระบวนการกลุ่มต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของมารดาในการป้องกันและรักษาโรคอุจจาระร่วงในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี จังหวัดเพชรบุรี

แหล่งที่มา/Source: เอกสารการวิจัย พ.ศ. 2538

รายละเอียด / Details:

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของกระบวนการกลุ่ม ต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของมารดาในการป้องกันและรักษาโรคอุจจาระร่วงในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี จังหวัดเพชรบุรี โดยศึกษาในมารดาเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ที่ป่วยด้วยโรคอุจจาระร่วงและได้รับการรักษาตัวในตึกกุมารเวช โรงพยาบาลพระจอมเกล้า จังหวัดเพชรบุรี จำนวน 80 ราย แบ่งเป็นกลุ่มทดลอง 40 ราย และกลุ่มควบคุม 40 ราย กลุ่มทดลองจะได้รับความรู้โดยผ่านกระบวนกลุ่มตามที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นและเป็นผู้นำกลุ่มเอง มีสมาชิกกลุ่มครั้งละ 2-4 คน ใช้เวลาครั้งละ 1 ชั่วโมง 30 นาที โดยรูปแบบกระบวนการกลุ่มนี้แบ่งออกเป็น 2 ครั้ง ครั้งแรกเกี่ยวกับโรคอุจจาระร่วงในเด็กและการป้องกัน ครั้งที่สองเกี่ยวกับอันตรายจากโรคอุจจาระร่วงและการรักษาเองที่บ้าน ส่วนกลุ่มควบคุมจะได้รับการสอนสุขศึกษา และคำแนะนำตามปกติจากพยาบาลประจำการ และนักศึกษาพยาบาล การเก็บรวบรวมข้อมูลใช้วิธีสัมภาษณ์มารดาเด็กตามแบบสัมภาษณ์ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นโดยเก็บข้อมูลจากตัวอย่างแต่ละราย 3 ครั้ง ครั้งแรกก่อนทดลอง โดยสัมภาษณ์ที่โรงพยาบาล แบบสัมภาษณ์ ประกอบด้วย ข้อมูลทั่วไป พฤติกรรมการรักษาโรคอุจจาระร่วงเบื้องต้นที่บ้าน พฤติกรรมการป้องกันโรค ความรู้ และความเชื่อเกี่ยวกับโรคอุจจาระร่วงในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ครั้งที่ 2 สัมภาษณ์หลังการทดลองภายใน 1 สัปดาห์ สัมภาษณ์ขณะอยู่ในโรงพยาบาล แบบสัมภาษณ์ประกอบด้วยความรู้และความเชื่อ และครั้งที่ 3 สัมภาษณ์หลังการทดลอง 1 เดือน โดยติดตามไปสัมภาษณ์ที่บ้าน โดยสัมภาษณ์พฤติรรมการป้องกันโรค ความรู้และความเชื่อ และถ้ามีเด็กป่วยด้วยโรคอุจจาระร่วงอีก จะสัมภาษณ์พฤติกรรมการรักษาโรคอุจจาระร่วงเบื้องต้นที่บ้าน เวลาที่ทำการศึกษาตั้งแต่ 6 เมษายน 2536 ถึง 27 กุมภาพันธ์ 2537 ผลการวิจัยพบว่า 1. หลังทดลองภายใน 1 สัปดาห์ กลุ่มทดลองมีคะแนนเฉลี่ยความรู้และความเชื่อเกี่ยวกับโรคอุจจาระร่วงเพิ่มขึ้นมากกว่ากลุ่มควบคุม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p‹0.001) 2. หลังทดลอง 1 เดือน กลุ่มทดลองมีคะแนนเฉลี่ยความรู้ ความเชื่อ และพฤติกรรมการป้องกันโรค มากกว่าก่อนทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.001) 3. หลังทดลอง 1 เดือน กลุ่มควบคุมมีคะแนนเฉลี่ยความรู้และความเชื่อไม่แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p = 0.116, p = 0.229 ตามลำดับ) เมื่อเปรียบเทียบกับก่อนทดลองและมีคะแนนเฉลี่ยพฤติกรรมการป้องกันโรค มากกว่าก่อนทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.01) 4. หลังทดลอง 1 เดือน มารดาในกลุ่มทดลองมีคะแนนเฉลี่ย เพิ่มขึ้นจากก่อนทดลองในเรื่องของความรู้ ความเชื่อ และพฤติกรรมการป้องกัน สูงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.001) สำหรับพฤติกรรมการรักษาโรคเบื้องต้น ทดสอบทางสถิติไม่ได้ 5. กลุ่มทดลองมีคะแนนเฉลี่ยความรู้ หลังทดลอง 1 เดือน ลดลงจากหลังทดลองภายใน 1 สัปดาห์ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.001) สำหรับคะแนนเฉลี่ยความเชื่อไม่แตกต่างกัน (p = 0.078) 6. กลุ่มควบคุมมีคะแนนเฉลี่ยความรู้และความเชื่อ หลังทดลอง 1 เดือน น้อยกว่าหลังทดลองภายใน 1 สัปดาห์ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.001)

Keywords: behavior, behaviour, group, psychiatry, , กลุ่ม, จิตเวช, จิตเวชศาสตร์, พฤติกรรม, มารดา

ปีที่เผยแพร่/Year: 2538

Address: บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล ทบวงมหาวิทยาลัย

Code: 371380000021

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: นิพนธ์ต้นฉบับ

Download: -