ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: ดาราวรรณ กำเสียงใส

ชื่อเรื่อง/Title: ความสัมพันธ์ระหว่างระดับความเครียด การสนับสนุนทางสังคมกับการปรับตัวต่อบทบาทการเป็นมารดาในระยะหลังคลอดของมารดาที่มีภาวะแทรกซ้อนทางสูติศาสตร์

แหล่งที่มา/Source: เอกสารการวิจัย พ.ศ. 2539

รายละเอียด / Details:

มารดาที่มีภาวะแทรกซ้อนทางสูติศาสตร์มีโอกาสได้รับการคุกคามจากเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในชีวิตมีผลทำให้มารดาเกิดภาวะเครียดได้ง่าย ซึ่งทำให้มารดาเกิดความรู้สึกท้อแท้และหมดกำลังใจ มารดาจะไม่สามารถปรับตัวต่อบทบาทการเป็นมารดาในระยะหลังคลอดได้เหมาะสม ซึ่งจะมีผลทำให้บุตรไม่ได้รับการเลี้ยงดูเอาใจใส่ที่เหมาะสมเพียงพอ จากการทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง ผู้วิจัยเชื่อว่า มารดาที่มีภาวะแทรกซ้อนทางสูติศาสตร์มีระดับความเครียดจากเหตุการณ์ต่างๆ ในชีวิตต่ำ และได้รับการสนับสนุนทางสังคมที่ดี จะช่วยให้มารดาสามารถปรับตัวต่อบทบาทการเป็นมารดาในระยะหลังคลอดได้ดี ผู้วิจัยจึงสนใจที่จะศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างระดับความเครียด การสนับสนุนทางสังคม กับการปรับตัวต่อบทบาทการเป็นมารดาในระยะหลังคลอดของมารดาที่มีภาวะแทรกซ้อนทางสูติศาสตร์ โดยใช้กรอบแนวคิดทฤษฎีการปรับตัวของรอยเป็นแนวทางในการศึกษา กลุ่มตัวอย่างที่ศึกษาเป็นมารดาหลังคลอดที่มีภาวะแทรกซ้อนทางสูติศาสตร์ในระยะตั้งครรภ์ที่มารับบริการตรวจสุขภาพหลังคลอดที่โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์และโรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า จำนวน 120 ราย ผู้วิจัยเก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้เครื่องมือ 3 ชุด ได้แก่แบบวัดระดับความเครียด แบบวัดการสนับสนุนทางสังคมและแบบประเมินการปรับตัวต่อบทบาทการเป็นมารดาในระยะหลังคลอด หลังจากนั้นนำข้อมูลมาวิเคราะห์โดยคำนวณค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของเพียร์สัน และค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์พหุคูณแบบขั้นตอน ผลการวิจัยพบว่า ระดับความเครียดมีความสัมพันธ์ทางลบกับการปรับตัวต่อบทบาทการเป็นมารดาอย่างมีนัยสำคัญ ทางสถิติที่ระดับ .01 (r = -.464) และการสนับสนุนทางสังคมมีความสัมพันธ์ทางบวกกับการปรับตัวต่อบทบาทการเป็นมารดาอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 (r = .435) ผลการวิเคราะห์ถดถอยพหุคูณแบบขั้นตอน พบว่า ระดับความเครียดและการสนับสนุนทางสังคม เป็นกลุ่มตัวทำนายที่สามารถร่วมทำนายการปรับตัวต่อบทบาทการเป็นมารดาในระยะหลังคลอดของมารดาที่มีภาวะแทรกซ้อนทางสูติศาสตร์ได้ร้อยละ 39.27 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .001 จากผลการวิจัยครั้งนี้สรุปได้ว่า มารดาหลังคลอดที่มีภาวะแทรกซ้อนทางสูติศาสตร์ที่มีระดับความเครียดต่ำ และได้รับการสนับสนุนทางสังคมดี จะสามารถปรับตัวต่อบทบาทการเป็นมารดาในระยะหลังคลอดได้ดี ดังนั้นผู้วิจัยมีข้อเสนอแนะว่าพยาบาลควรตระหนักถึงความสำคัญของเหตุการณ์และการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับมารดาที่มีภาวะแทรกซ้อนทางสูติศาสตร์ในระยะหลังคลอด ซึ่งเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดภาวะเครียดและมีอิทธิพลต่อการปรับตัวต่อบทบาทการเป็นมารดา นอกจากนี้ พยาบาลควรมุ่งส่งเสริมครอบครัวของมารดากลุ่มนี้ซึ่งเป็นแหล่งสนับสนุนทางสังคมที่สำคัญในการสนับสนุนให้กำลังใจ และช่วยเหลือมารดา เพื่อให้สามารถปรับตัวและปฏิบัติตนในบทบาทการเป็นมารดาได้อย่างถูกต้องและเหมาะสมต่อไป

Keywords: psychiatry, social, stress, เครียด, , ความเครียด, จิตเวช, จิตเวชศาสตร์, มารดา, สังคม

ปีที่เผยแพร่/Year: 2539

Address: บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล ทบวงมหาวิทยาลัย

Code: 371390000022

ISSN/ISBN: 974-588-392-1

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: นิพนธ์ต้นฉบับ

Download: -