ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: นพพร พานิชสุข

ชื่อเรื่อง/Title: อิทธิพลของครอบครัวที่มีผลต่อการใช้ยากระตุ้นประสาทประเภทแอมเฟตามีนของเด็กวัยรุ่น

แหล่งที่มา/Source: เอกสารการวิจัยเรื่อง อิทธิพลของครอบครัวที่มีผลต่อการใช้ยากระตุ้นประสาทประเภทแอมเฟตามีนของเด็กวัยรุ่น, พ.ศ.2522

รายละเอียด / Details:

วัตถุประสงค์ของการศึกษา เพื่อศึกษาลักษณะครอบครัว สาเหตุและปัญหาครอบครัวที่มีอิทธิพลต่อการใช้ยาประเภทแอมเฟตามีน ตลอดจนวิธีหรือแนวทางการป้องกันและแก้ไข โดยศึกษา เปรียบเทียบระหว่างนักเรียนมัธยมสาธิตรามคำแหงระดับมัธยมศึกษาตอนปลายกับคนไข้ชายที่มาทำการบำบัดรักษาโรคยาเสพติดในโรงพยาบาลธัญญารักษ์ นอกจากนี้เพื่อเป็นแนวทางป้องกันการใช้ยากระตุ้นประสาทของเด็กวัยรุ่นทั่วไปด้วย วิธีดำเนินการศึกษา ใช้วิธีเก็บรวบรวมข้อมูล โดยการออกแบบสอบถามให้นักเรียนมัธยมสาธิตรามคำแหงในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 5 จำนวน 44 คน ซึ่งมีอายุระหว่าง 15-20 ปี กลุ่มหนึ่ง และอีกกลุ่มหนึ่งให้คนไข้ชายที่มาทำการบำบัดรักษาโรคยาเสพติดในโรงพยาบาลธัญญารักษ์ จำนวน 49 คน ซึ่งมีอายุเฉลี่ยระหว่าง 15-29 ปี แบบสอบถามดังกล่าวประกอบด้วยคำถาม แบบเลือกตอบแบบมาตราส่วนประเมินค่า และแบบเติมคำหรือข้อความโดยครอบคลุมเนื้อหาต่าง ๆ ให้สอดคล้องตรงกับวัตถุประสงค์ของการศึกษา และได้วิเคราะห์ข้อมูลโดยหาค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ยคำตอบและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน แล้วนำเสนอในรูปตารางผสมความเรียงวิเคราะห์ข้อมูลในแต่ละตาราง ผลการศึกษาพบว่า 1. สภาพครอบครัวของนักเรียนมัธยมสาธิตรามคำแหงที่ได้รับการเลี้ยงดูจากบิดามารดาตั้งแต่เยาว์วัย จนถึงช่วงเด็กวัยรุ่น ส่วนใหญ่บิดามารดาได้ปฏิบัติต่อบุตรธิดาของตนในลักษณะที่ดีมาก เช่น การเลี้ยงดูบุตรธิดาด้วยตนเอง การให้ความรัก ความสนใจ และความใกล้ชิด สำหรับสภาพครอบครัวของคนไข้ชายในโรงพยาบาลธัญญารักษ์ส่วนใหญ่ได้รับการเลี้ยงดูจากบิดามารดาตั้งแต่เยาว์วัย จนถึงย่างเข้าสู่วัยรุ่น แต่บิดามารดาได้ปฏิบัติต่อบุตรธิดาของตนในลักษณะที่น้อยมาก เช่น การได้รับความอบอุ่น ความใกล้ชิด การให้ความสนิทสนมเป็นกันเองของบิดามารดาตลอดจนการคบเพื่อน เป็นต้น 2. นักเรียนมัธยมสาธิตรามคำแหงส่วนใหญ่ ไม่มีปัญหาภายในครอบครัว เพราะได้รับความรัก ความอบอุ่น จากบิดามารดาอย่างดีและเพียงพอ ตลอดจนส่วนใหญ่มีฐานะทางสังคมและเศรษฐกิจของผู้ปกครองอยู่ในระดับชั้นดี สำหรับคนไข้ชาย มีปัญหาภายในครอบครัว คือ บิดามารดา ไม่ค่อยเข้าใจบุตรธิดา และมีทัศนคติไม่ตรงกัน ทำให้มีความรู้สึกเบื่อหน่ายอยากหนีออกจากบ้าน เนื่องจากว้าเหว่และเหงาใจมาก 3. อิทธิพลของครอบครัวมีผลมากที่สุดที่จะทำให้เด็กวัยรุ่นมีแนวโน้มการใช้ยากระตุ้นประสาทประเภทแอมเฟตามีน แต่อาชีพและฐานะทางเศรษฐกิจของบิดามารดาไม่มีผลต่อการใช้ หรือติดยากระตุ้นประสาทประเภทแอมเฟตามีน ทั้งนี้เพราะทุกอาชีพและฐานะทางเศรษฐกิจใด ๆ ก็มีโอกาสติดยาแอมเฟตามีนได้เท่า ๆ กัน 4. ปัญหาและสาเหตุในครอบครัวที่มีอิทธิพลต่อการใช้ยากระตุ้นประสาทประเภทแอมเฟตามีนเนื่องมาจาก 4.1 การระบาดแพร่หลายและการใช้ยากระตุ้นประสาทประเภทแอมเฟตามีนเพิ่มมากยิ่งขึ้นในหมู่เด็กวัยรุ่นปัจจุบัน ตลอดจนสภาพครอบครัวและสิ่งแวดล้อมรอบ ๆ ตัวเลวร้ายลงทุกขณะทำให้เด็กวัยรุ่นมีความรู้สึกสับสนขาดที่พึ่งยึดเหนี่ยวทางด้านจิตใจ 4.2 เด็กวัยรุ่นคบเพื่อนไม่ดีและได้รับคำแนะนำชักจูงจากเพื่อนฝูงในเรื่องไม่ดีประกอบกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันบีบรัดตัวมากยิ่งขึ้น ค่าครองชีพสูงยิ่งขึ้น เป็นผลสะท้อนให้เด็กวัยรุ่นที่ความรู้สึกสับสนขาดตัวอย่างที่ดี ตลอดจนแนวทางการประพฤติปฏิบัติตัวที่เหมาะสม 4.3 สภาพครอบครัวที่ไม่สมบูรณ์ บิดามารดาแยกกันอยู่หรือหย่าร้างกันทำให้เด็กวัยรุ่นขาดความรัก ความอบอุ่นและความใกล้ชิด ตลอดจนขาดคำปรึกษาหารือและคำแนะนำที่ดี อีกทั้งปัจจุบัน กระทรวงสาธารณสุข ให้อิสระในการจำหน่ายยาแก่ร้านขายยามากจนเกินไป โดยไม่ต้องมีใบสั่งแพทย์ ก็สามารถซื้อยาประเภทอันตรายรวมถึงยากระตุ้นประสาทประเภทต่าง ๆ ได้อย่างง่ายดาย 5. แนวทางป้องกันและแก้ไขการใช้ยากระตุ้นประสาทประเภทแอมเฟตามีน ผลการวิจัยให้ข้อเสนอแนวไว้ 2 ทางคือ ก. ในระดับครอบครัว 5.1 บิดามารดาควรให้การดูแลสอดส่องบุตรธิดาของตนอย่างใกล้ชิด รวมทั้งให้คำแนะนำ คำปรึกษาในเรื่องต่าง ๆ อย่างเหมาะสม 5.2 บิดามารดาต้องให้ความรัก ความอบอุ่น และความใกล้ชิดแก่บุตรธิดาพอสมควรเพื่อให้บุตรธิดามีที่ยึดเหนี่ยวทางด้านจิตใจ 5.3 กระทรวงสาธารณสุขต้องให้ความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องการใช้ยาอันตราย และยาประเภทต่าง ๆ แก่บิดามารดา เพื่อมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ข. ในระดับสังคมส่วนรวม 5.4 กระทรวงสาธารณสุขต้องเข้ามามีบทบาทแก้ไข ด้วยการระดมกำลังเจ้าหน้าที่ตลอดจนข้าราชการในการเผยแพร่ให้ความรู้ ความเข้าใจในเรื่องการใช้ยากระตุ้นประสาทประเภทแอมเฟตามีน และยาอันตรายต่าง ๆ ให้ประชาชนเข้าใจอย่างถูกต้อง โดยผ่านทางสื่อมวลชนต่าง ๆ เช่น หนังสือพิมพ์ วิทยุ และโทรทัศน์ ฯลฯ 5.5 กระทรวงสาธารณสุขต้องให้ความร่วมมือป้องกันและแก้ไขด้วยเช่นกัน โดยการเผยแพร่ให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้ยากระตุ้นประสาทประเภทแอมเฟตามีน และยาอันตรายต่าง ๆ แก่นักเรียนทุกระดับชั้น 5.6 ควรมีการร่วมมือจากบุคคลทุกฝ่ายในการป้องกัน และแก้ไขการใช้ยากระตุ้นประสาทประเภทแอมเฟตามีน อาทิเช่น บิดามารดา นายแพทย์ เภสัชกร ร้านขายยา และรัฐบาล เป็นต้น

Keywords: adolescence, adolescent, amphetamine, family, , psychiatry, ครอบครัว, จิตเวช, จิตเวชศาสตร์, ยาบ้า, วัยรุ่น

ปีที่เผยแพร่/Year: 2522

Address: คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทบวงมหาวิทยาลัย

Code: 372220000019

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: นิพนธ์ต้นฉบับ

Download: -