ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: ศิริพร สันติพิทักษ์

ชื่อเรื่อง/Title: บทบาทของนักสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์ฝ่ายจิตในการปฏิบัติงานของศูนย์สุขวิทยาจิต

แหล่งที่มา/Source: เอกสารวิจัยเรื่อง บทบาทของนักสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์ฝ่ายจิตในการปฏิบัติงานของศูนย์สุขวิทยาจิต, พ.ศ. 2522

รายละเอียด / Details:

วัตถุประสงค์ของการศึกษา เพื่อศึกษาถึงบทบาทของนักสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์ฝ่ายจิตในการปฏิบัติงานของศูนย์สุขวิทยาจิต ลักษณะและสาเหตุของปัญหาสุขภาพจิตของผู้ป่วย ขอบเขตและนโยบายการให้บริการของศูนย์ฯ ตลอดจนการประสานงานกันของทีมสุขภาพจิต วิธีดำเนินการศึกษา ใช้แบบสอบถาม 3 ชุด ชุดที่ 1 และ 2 สัมภาษณ์ผู้ป่วยและญาติผู้ป่วยที่ถูกนักสังคมสงเคราะห์นัดมาพบเป็นครั้งที่ 3 ขึ้นไปในระหว่างวันที่ 1-29 กุมภาพันธ์ 2523 และอีก 1 ชุด สำหรับให้เจ้าหน้าที่ทีมสุขภาพจิตเป็นผู้ตอบแบบสอบถาม ผลการศึกษา พบว่าผู้ป่วยที่มารับการรักษามีจำนวน 53 ราย เป็นเพศหญิงมากกว่าเพศชายเกือบเท่าตัว ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุ 20-30 ปี ระดับการศึกษาต่ำ คือระดับประถมศึกษาถึงร้อยละ 45.28 ส่วนใหญ่ยังเป็นนักเรียน นิสิต และนักศึกษา ปัญหาของผู้ป่วยจะเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างผู้ป่วยกับบิดามารดา หรือพี่น้องที่อาศัยอยู่ด้วยกัน ผู้ป่วยเติบโตขึ้นมาท่ามกลางความขัดแย้ง ความสูญเสีย พ่อ แม่ และสมาชิกในครอบครัวมีการทะเลาะเบาะแว้งกันเป็นประจำ ทำให้ผู้ป่วยไม่มีความสุขในครอบครัว คิดมาก นอนไม่หลับ ปวดศีรษะ ซึ่งมีผลต่อบุคลิกภาพ และการปรับตัวของผู้ป่วย เนื่องจากบุคลิกภาพจะเป็นเครื่องกำหนดปฏิกิริยาของบุคคลที่มีต่อตนเองและต่อผู้อื่น และเป็นผลต่อความรู้สึกของเขาที่มีต่อสิ่งต่าง ๆ ด้วย ดังนั้นบ่อเกิดของพฤติกรรมผิดปกติต่าง ๆ ในสังคมนั้น เป็นผลมาจากความตึงเครียดที่รุนแรง เป็นผลมาจากพัฒนาการบุคลิกภาพที่ผิดพลาดประเภทต่าง ๆ ของความบีบคั้นทางใจที่ได้กลายเป็นสิ่งที่เกินกว่าจิตใจคนเราจะทนทานได้ ตลอดจนมีตัวประกอบที่อาจเป็นกรรมพันธุ์ติดตัวมาแต่เกิด ทำให้เราเปราะเกินไปต่อโรคทางจิต และนอกจากนี้ยังมีตัวประกอบอื่น ๆ ที่หล่อหลอมเราในระยะที่กำลังเติบโตมา สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นสิ่งที่ขีดวงให้บุคคลแต่ละคนมีความอดทนต่อความบีบคั้น ความตึงเครียดได้มากน้อยต่างกัน การให้บริการของศูนย์สุขวิทยาจิตจึงเน้นทางด้านการป้องกัน รวมทั้งให้บริการด้านการบำบัดรักษาและการฟื้นฟูสมรรถภาพด้วย ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ร่วมกันทำงานเป็นทีม เรียกว่าทีมสุขภาพจิต ซึ่งประกอบด้วยจิตแพทย์ แพทย์ นักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา พยาบาล จิตเวช ผู้ช่วยพยาบาลจิตเวช ครูอาชีวบำบัด และนักวิชาการศึกษาพิเศษ ข้อเสนอแนะ 1. บุคลากรผู้บริการมีจำนวนน้อย ไม่เพียงพอกับการให้บริการผู้ป่วยทั้งในด้านการให้การป้องกันรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพ ควรเพิ่มเจ้าหน้าที่ที่จำเป็น คือจิตแพทย์ นักสังคมสงเคราะห์ และนักจิตวิทยา ทั้งนี้เพื่อให้เจ้าหน้าที่ได้ปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพตรงตามวิชาชีพและความสามารถของตน 2. การให้การรักษาผู้ป่วย ควรจะร่วมกันทำงานเป็นทีม ไม่ควรให้อยู่ในความรับผิดชอบของบุคคลใดบุคคลหนึ่งแต่ผู้เดียว เพราะต้องขึ้นอยู่กับความรู้ ความสามารถ ทักษะ ทัศนคติ ถ้าผู้รักษาคนนั้นขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งดังกล่าวไป ย่อมจะเป็นผลเสียต่อการให้การรักษาผู้ป่วยเป็นอย่างมาก 3. นโยบายของหน่วยงาน ควรมีนโยบายและแผนงานที่แน่นอน ไม่แบ่งสายงานย่อยมาก

Keywords: psychiatry, service, social, social worker, จิตเวช, จิตเวชศาสตร์, นักสังคมสงเคราะห์, บริการ, สังคม, สังคมสงเคราะห์

ปีที่เผยแพร่/Year: 2522

Address: คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทบวงมหาวิทยาลัย

Code: 372220000021

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: นิพนธ์ต้นฉบับ

Download: -