ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: วิจิตร ระวิวงศ์, สุรพล ปธานวนิช

ชื่อเรื่อง/Title: พฤติกรรมการรับข่าวสารกับความรุนแรงทางสังคม

แหล่งที่มา/Source: เอกสารการวิจัย พ.ศ. 2523

รายละเอียด / Details:

การศึกษาเรื่อง “พฤติกรรมการรับข่าวสารกับความรุนแรงทางสังคม” มีวัตถุประสงค์เพื่อหาข้อสนับสนุนว่าการรับข่าวสารที่มีเนื้อหารุนแรงจากสื่อมวลชนเป็นสาเหตุของพฤติกรรมรุนแรงจริงหรือไม่ โดยได้ตั้งสมมุติฐานตามทฤษฎีที่ว่าเนื้อหาความรุนแรงจากสื่อมวลชนเป็นสาเหตุของพฤติกรรมรุนแรง ประเด็นสำคัญที่ศึกษา คือ อิทธิพลของภาพยนต์และอิทธิพลของกลุ่ม โดยพิจารณาว่าประเด็นดังกล่าวมีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมรุนแรงในลักษณะใด ดังนี้ 1. ผู้ที่รับข่าวสารซึ่งมีเนื้อหารุนแรง จะแสดงพฤติกรรมรุนแรงแตกต่างไปจากผู้ที่รับข่าวสารที่มีเนื้อหาไม่รุนแรง 2. ผู้ที่ได้รับอิทธิพลจากกลุ่มจะแสดงพฤติกรรมรุนแรงแตกต่างในจากผู้ที่ไม่ได้รับอิทธิพลจากกลุ่ม 3. ผู้รับข่าวสารที่มีเนื้อหารุนแรงและได้รับอิทธิพลจากกลุ่มที่มีแนวโน้ม ที่จะแสดงพฤติกรรมรุนแรงแตกต่างไปจากผู้ได้รับอิทธิพลของกลุ่มแต่เพียงอย่างเดียว และ 4. ผู้รับข่าวสารที่มีเนื้อหารุนแรงและได้รับอิทธิพลจากกลุ่ม มีแนวโน้มที่จะแสดงพฤติกรรมรุนแรงแตกต่างไปจากผู้รับข่าวสารที่มีเนื้อหารุนแรงแต่เพียงอย่างเดียว ประชากรที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ ได้แก่ ผู้ต้องโทษที่เป็นเยาวชน อายุระหว่าง 18-25 ปี ในทัณฑสถานวัยหนุ่มบางเขน และทัณฑสถานวัยหนุ่มมีนบุรี จำนวนทั้งสิ้น 1,060 คน โดยสุ่มตัวอย่างตามวิธี Random Sampling ได้ 317 คน วิธีการศึกษาใช้วิธีสัมภาษณ์เป็นรายบุคคล และทดสอบด้วยวิธีสัดส่วน ผลการศึกษาปฏิเสธสมมุติฐานที่ 1, 2 และ 4 คงยอมรับเฉพาะสมมุติฐานที่ 3 ซึ่งอาจอธิบายโดยสรุปได้ว่า เมื่อใช้ภาพยนต์เป็นตัวแทนของสื่อมวลชนแล้ว พบว่าการรับข่าวสารจากสื่อที่มีเนื้อหารุนแรงหรือการรับอิทธิพลของกลุ่มโดยลำพัง มิได้มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมรุนแรง แต่เมื่อมีการผสมผสานระหว่างพฤติกรรมการรับข่าวสารที่มีเนื้อหารุนแรงกับอิทธิพลของกลุ่ม (สมมติฐานที่ 3) แล้ว การผสมผสานดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะระบายพฤติกรรมความรุนแรงได้ จึงเท่ากับว่าการเกิดพฤติกรรมรุนแรงในสังคมตามทฤษฎี The Mediating Factor หรือการไหลเวียนข่าวสารแบบหลายขั้นตอนไม่เป็นจริง และขณะเดียวกับอิทธิพลของการรับข่าวสารตามทฤษฎี The Stimulus Response หรือการไหลเวียนของข่าวสารแบบขั้นตอนเดียว ก็ไม่อาจใช้อธิบายพฤติกรรมของบุคคลว่าจะรุนแรงหรือไม่รุนแรง อย่างไรก็ดี แม้ว่าการศึกษานี้จะมิได้สนับสนุนแนวโน้มของความคิดที่ว่าการรับข่าวสารที่มีเนื้อหารุนแรงมีความสัมพันธ์กับการแสดงออกซึ่งพฤติกรรมที่รุนแรง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ารูปแบบของการกระทำผิดในชีวิตจริง ไม่ได้ลอกเลียนแบบมาจากเนื้อหาที่รุนแรงจากสื่อมวลชน ปัจจัยที่สังคมอาจต้องให้ความสนใจ เพื่อลดพฤติกรรมกรรมรุนแรงในสังคม คือ อิทธิพลของกลุ่ม ซึ่งในหลายๆ กรณี (ที่แตกต่างไปจากการศึกษานี้) อาจมีส่วนชักนำให้ผู้มีพื้นนิสัยไม่ชอบความรุนแรงแสดงพฤติกรรมที่ไม่เป็นที่ยอมรับในสังคมได้

Keywords: adolescence, adolescent, behavior, behaviour, group, mass media, media, psychiatry, social, กลุ่ม, จิตเวช, จิตเวชศาสตร์, พฤติกรรม, วัยรุ่น, สังคม, สื่อ, สื่อมวลชน

ปีที่เผยแพร่/Year: 2523

Address: บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทบวงมหาวิทยาลัย

Code: 372230000011

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: นิพนธ์ต้นฉบับ

Download: -