ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: พิไลรัตน์ รุจิวณิชย์กุล

ชื่อเรื่อง/Title: การศึกษาปัญหาสุขภาพจิตของผู้มารับบริการจากหมอดู, ศึกษาเฉพาะกรณีผู้มารับบริการจากหมอดูของสมาคมโหรแห่งประเทศไทย

แหล่งที่มา/Source: เอกสารการวิจัยเรื่อง การศึกษาปัญหาสุขภาพจิตของผู้มารับบริการจากหมอดู, ศึกษาเฉพาะกรณีผู้มารับบริการจากหมอดูของสมาคมโหรแห่งประเทศไทย, พ.ศ. 2523

รายละเอียด / Details:

ความมุ่งหมายของการศึกษา มุ่งศึกษาว่าผู้มารับบริการจากหมอดูมีปัญหาสุขภาพจิตหรือไม่ และเป็นปัญหาประเภทใด นอกจากนี้เพื่อจะดูว่าผู้มารับบริการจากหมอดูมีความรู้หรือทัศนคติต่องานสังคมสงเคราะห์อย่างไร เพื่อจะได้เป็นแนวทางในการวางแผนปรับปรุงบริการสังคมสงเคราะห์ โดยเฉพาะงานบริการสังคมสงเคราะห์ทางจิตเวช ตลอดจนศึกษาว่าอาชีพหมอดูมีส่วนช่วยสังคมโดยเฉพาะทางด้านจิตใจของประชาชนอย่างไรบ้าง เพื่อพิจารณาหาแนวทางในการนำบริการหมอดูมาช่วยในด้านการสังคมสงเคราะห์ทางจิตเวช วิธีการศึกษา ได้ทำการศึกษาโดยการแจกแบบสอบถามแก่ผู้มารับบริการจากหมอดู จำนวน 250 คน และแจกแบบสอบถามแก่หมอดูของสมาคมโหร จำนวน 21 คน รวมทั้งใช้วิธีสังเกตผู้มารับบริการจากหมอดูอีกจำนวน 400 คน เพื่อนำข้อมูลที่ได้จากหมอดูและจากการสังเกตมาประกอบกับข้อมูลที่ได้จากการแจกแบบสอบถามผู้มารับบริการจากหมอดู ผลของการศึกษา ปรากฎว่า ผู้มารับบริการจากหมอดูส่วนใหญ่ เป็นเพศหญิงมากกว่าเพศชาย มีอายุในช่วง 15-30 ปี อยู่ในระหว่างการศึกษามากที่สุด เป็นโสดส่วนมาก การศึกษาขั้นสุดท้าย ปรากฎว่าผู้มารับบริการจากหมอดูมีระดับการศึกษาอยู่ในขั้นปริญญาตรีมากที่สุด สำหรับฐานะทางเศรษฐกิจของครอบครัวส่วนใหญ่อยู่ในระดับปานกลางมีรายได้พอดีกับรายจ่าย มีบ้านพักส่วนตัวเป็นส่วนใหญ่ ผู้มารับบริการจากหมอดูมีสถานภาพทางครอบครัวเป็นบุตรมากที่สุดและไม่มีรายได้ของตนเอง อยู่ในปกครอง หรือว่างงานมากที่สุด สุขภาพจิตของผู้มารับบริการจากหมอดู ในแง่ความรู้สึกต่อตนเองปรากฎว่าส่วนใหญ่ตอบว่าสามารถควบคุมความผิดหวังได้ รองลงมารู้สึกโกรธเวลาไม่พอใจ และมีความวิตกกังวลเป็นอันดับสาม สำหรับสุขภาพจิตในแง่ความรู้สึกต่อบุคคลอื่น ส่วนใหญ่ตอบว่ามีความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งหรือมีส่วนร่วมในครอบครัว ในเพื่อนร่วมงาน และในเพื่อนฝูง ส่วนความสามารถในการดำเนินชีวิตส่วนใหญ่ตอบว่ามีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ของตน และสามารถแก้ไขปัญหาชีวิตด้วยตนเอง แต่ก็ตอบว่าสามารถหาความพึงพอใจในชีวิตหรือประสบความสำเร็จในชีวิตได้น้อย คือจัดให้อยู่ในอันดับท้ายสุด ผู้มารับบริการจากหมอดูส่วนใหญ่เคยไปหาหมอดูมาก่อน แม้ว่าส่วนใหญ่จะตอบว่าไปหาหมอดูไม่บ่อยนัก และเหตุผลที่ไปหาหมอดูเพราะอยากรู้อนาคตมากที่สุด ส่วนปัญหาของผู้มารับบริการจากหมอดูมีความคาดหวังว่าเมื่อมาหาหมอดูจะทำให้สบายใจขึ้นมากที่สุด นอกนั้นมีบางส่วนที่ตอบว่าทำให้มีความหวัง คลายความวิตกกังวล และหลังจากรับบริการจากหมอดูแล้วส่วนใหญ่ตอบว่ารู้สึกสบายใจขึ้น สำหรับความรู้เรื่องงานสังคมสงเคราะห์ ผู้มารับบริการจากหมอดูส่วนใหญ่เคยทราบว่ามีหน่วยงานสังคมสงเคระห์ที่ให้บริการช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน แต่ส่วนมากไม่เคยไปรับบริการจากหน่วยงานสังคมสงเคราะห์ เพราะว่าไม่เชื่อว่านักสังคมสงเคราะห์จะช่วยอะไรได้และเบื่อหน่ายต่อระบบราชการเมื่อมีความเดือดร้อน ผู้มารับบริการจากหมอดูส่วนใหญ่จะเลือกไปปรึกษา เพื่อน พ่อ แม่ ญาติพี่น้อง สามีหรือภรรยา ก่อน รองลงมาเลือกไปหาหมอดู ส่วนนักสังคมสงเคราะห์จะเลือกไปปรึกษาเป็นอันดับสุดท้าย ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับนักสังคมสงเคราะห์ ในบทบาทของนักสังคมสงเคราะห์จิตเวชทางด้านการป้องกัน ส่งเสริมและพัฒนาสุขภาพจิตชุมชน นักสังคมสงเคราะห์จิตเวชควรมีส่วนร่วมในการทำงานกับบริการชุมชนต่าง ๆ เพื่อที่จะทราบถึง ปัญหาหรือความต้องการของชุมชน เช่น นักสังคมสงเคราะห์จิตเวชร่วมมือกับครูแนะแนวตามโรงเรียนต่าง ๆ เพื่อค้นหาปัญหาสุขภาพจิตของนักเรียนในเรื่องการศึกษา การปรับตัวกับเพื่อนต่างเพศ การวางแผนการทำงานในอนาคต เป็นต้น ซึ่งจากการวิจัยครั้งนี้พบว่าผู้มารับบริการจากหมอดูมีปัญหาเรื่องการทำงานคู่ครองหรือแฟนและการศึกษามากที่สุด ดังนั้นจึงควรมีการป้องกันปัญหาเหล่านี้แต่เนิ่น ๆ ตั้งแต่ยังอยู่ในวัยเด็ก วัยศึกษา มิใช่ปล่อยให้บุคคลเหล่านี้ออกมาพร้อมกับปัญหา นักสังคมสงเคราะห์จิตเวช ในฐานะที่เป็นตัวเชื่อมโยงระหว่างผู้รับบริการกับทรัพยากรทางสังคมอื่น ๆ อาจร่วมมือกับสถาบันทางโหราศาสตร์ ซึ่งเป็นทรัพยากรทางสังคมที่ประชาชนไปใช้บริการอยู่เป็นประจำและจำนวนมากอยู่แล้ว ในการเก็บรวบรวมข้อมูลปัญหาทางสุขภาพจิตที่หมอดูได้จากผู้รับบริการ แล้วนำไปวางแผนการป้องกันสุขภาพจิตชุมชน ในหน่วยงานต่าง ๆที่เกี่ยวข้องต่อไป นอกจากนี้นักสังคมสงเคราะห์จิตเวชอาจเป็นผู้นำในการเปิดอบรมหมอดูหรือนักพยากรณ์ ในเรื่องของสุขภาพจิตชุมชน ตลอดจนหลักการสังคมสงเคราะห์ เพื่อเป็นการป้องกันและส่งเสริมสุขภาพจิตชุมชนในเบื้องต้น และเมื่อหมอดูพบว่าผู้มารับบริการคนใดมีปัญหาสุขภาพจิตในขั้นที่ควรได้รับการปรึกษาจากนักสังคมสงเคราะห์จิตเวช เช่น ผู้คิดจะฆ่าตัวตาย หรือจะไปทำร้าย ปองร้ายกับบุคคลอื่น ๆ ให้มีการแนะนำหรือส่งต่อ (Refer Case) ไปยังหน่วยงานสังคมสงเคราะห์จิตเวชเพื่อการบำบัดรักษาต่อไป

Keywords: culture, psychiatry, social, social worker, โหราศาสตร์, จิตเวช, จิตเวชศาสตร์, นักสังคมสงเคราะห์, ภูมิปัญญาท้องถิ่น, วัฒนธรรม, สังคม, สังคมสงเคราะห์, หมอดู

ปีที่เผยแพร่/Year: 2523

Address: คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทบวงมหาวิทยาลัย

Code: 372230000027

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: นิพนธ์ต้นฉบับ

Download: -