ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: ปิยะฉัตร เนนเลิศ

ชื่อเรื่อง/Title: การศึกษาปัญหาทางสังคมของผู้พยายามกระทำอัตวินิบาตกรรม ศึกษาเฉพาะกรณีผู้มารับการรักษา ณ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ โรงพยาบาลศิริราช

แหล่งที่มา/Source: เอกสารการวิจัยเรื่อง การศึกษาปัญหาทางสังคมของผู้พยายามกระทำอัตวินิบาตกรรม ศึกษาเฉพาะกรณีผู้มารับการรักษา ณ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ โรงพยาบาลศิริราช , พ.ศ. 2523

รายละเอียด / Details:

วัตถุประสงค์ของการศึกษา เพื่อศึกษาลักษณะทางสังคมและสภาพทั่วไปของผู้พยายามกระทำอัตวินิบาตกรรม เพื่อใช้เป็นแนวทางปฏิบัติงานสังคมสงเคราะห์ทางจิตเวช วิธีการศึกษา ใช้การศึกษาจากเอกสาร หนังสือ บทความ และงานวิจัย ทั้งในและต่างประเทศเกี่ยวกับการพยายามกระทำอัตวินิบาตกรรม รวมทั้งสัมภาษณ์ผู้ป่วยที่พยายามกระทำอัตวินิบาตกรรมที่เข้ารับการรักษา ณ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ โรงพยาบาลศิริราช ตั้งแต่เดือนมกราคม-มีนาคม 2524 จำนวน 50 ราย ผลการศึกษา พบว่าผู้พยายามกระทำอัตวินิบาตกรรมส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง พบมากในช่วงอายุ 16-20 ปี ส่วนใหญ่เป็นโสด มีอาชีพนักเรียนนักศึกษา มีรายได้ค่อนข้างต่ำ มีการศึกษาในระดับประถมศึกษา ส่วนใหญ่ได้รับการเลี้ยงดูในวัยเด็กโดยบิดามารดา ส่วนใหญ่เป็นบุตรคนกลาง จำนวนมากที่สุดใช้วิธีกินยาตาย และสาเหตุกระตุ้นให้กระทำอัตวินิบาตกรรมส่วนมากเป็นปัญหาด้านความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล การศึกษาด้านคู่สมรสพบว่า ส่วนใหญ่คู่สมรสของผู้พยายามกระทำอัตวินิบาตกรรมมีสถานภาพทางเศรษฐกิจและสังคมค่อนข้างต่ำ มีสัมพันธภาพในระหว่างคู่สมรสเป็นไปในทางไม่ราบรื่น ส่วนใหญ่เพิ่งแต่งงานกัน และยังไม่มีบุตร นอกจากนี้ การศึกษายังพบว่า ในด้านความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลอื่นทั่วไป อันได้แก่บิดามารดา พี่น้อง ญาติ เพื่อน เพื่อนบ้าน เป็นไปในทางไม่ดี มีความขัดแย้งมากกว่าความสงบสุข ส่วนใหญ่ไม่เคร่งศาสนา และไม่ใช้สุรายาเสพติด ส่วนมากมีสุขภาพกายแข็งแรงดี ที่บ้านไม่มีสภาพแออัด และพบลักษณะครอบครัวแตกแยก ข้อเสนอแนะสำหรับนักสังคมสงเคราะห์ทางจิตเวช ได้แก่ การเผยแพร่ความรู้ทางสุขภาพจิต ตั้งแต่การเลือกคู่ การวางแผนครอบครัว การมีลูกเมื่อพร้อม การเลี้ยงดู การแก้ปัญหาครอบครัว ความขัดแย้งทางด้านสื่อมวลชนต่าง ๆ รวมทั้งการให้ความรู้ผ่านบุคคลที่มีอิทธิพล กลุ่มต่าง ๆ ข้อเสนอแนะอื่น ๆ ได้แก่ การขยายบริการด้านการให้คำปรึกษาหารือก่อนสมรส การให้บริการแก่ผู้มีปัญหาครอบครัว การขยายบริการช่วยเหลือในช่วงวิกฤติ การกระตุ้นให้เกิดการยกระดับการศึกษาให้ได้มาตรฐานและขยายสถาบันการศึกษาการจัดหลักสูตรการศึกษาให้เกิดการเรียนรู้ถึงการบำรุงดูแลรักษาสุขภาพจิตของตนเอง แต่เบื้องต้นในสถาบันการศึกษา การพบกับญาติของผู้มารับบริการเพื่อให้คำแนะนำและข้อปฏิบัติที่ถูกต้องเหมาะสม รวมทั้งการมีความเข้าใจถึงแหล่งทรัพยากรที่จะให้ความช่วยเหลือด้านต่าง ๆ แก่ผู้มารับบริการเป็นอย่างดี

Keywords: psychiatry, social, suicide, การฆ่าตัวตาย, ฆ่าตัวตาย, จิตเวช, จิตเวชศาสตร์, สังคม

ปีที่เผยแพร่/Year: 2523

Address: คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทบวงมหาวิทยาลัย

Code: 372230000028

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: นิพนธ์ต้นฉบับ

Download: -