ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: นิภา ชุติฉัตรชัย

ชื่อเรื่อง/Title: ปัญหาทางด้านจิตใจและสังคมของผู้ป่วยโรคมะเร็งปากมดลูกที่อยู่ระหว่างการบำบัดรักษาเฉพาะในโรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลศิริราช และสถาบันมะเร็งแห่งชาติ

แหล่งที่มา/Source: เอกสารการวิจัยเรื่อง ปัญหาทางด้านจิตใจและสังคมของผู้ป่วยโรคมะเร็งปากมดลูกที่อยู่ระหว่างการบำบัดรักษาเฉพาะในโรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลศิริราช และสถาบันมะเร็งแห่งชาติ , พ.ศ. 2523

รายละเอียด / Details:

ความมุ่งหมายของการศึกษา เพื่อศึกษาถึงปัญหาทางด้านจิตใจและสังคมของผู้ป่วยโรคมะเร็งปากมดลูกที่อยู่ในระหว่างการบำบัดรักษาเฉพาะในโรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลศิริราช และสถาบันมะเร็งแห่งชาติ โดยศึกษาถึงภูมิหลังของผู้ป่วยทางด้านสังคม เศรษฐกิจ และการเจ็บป่วยซึ่งอาจจะนำมาซึ่งปัญหาทางด้านจิตใจและสังคมของผู้ป่วยขณะนั้น และศึกษาถึงความต้องการในการแก้ปัญหาของผู้ป่วยเพื่อกระตุ้นให้นักสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์ตระหนักถึงบทบาทที่มีต่อปัญหานี้ และเพื่อใช้เป็นแนวทางปรับปรุงบริการที่ยังขาดอยู่ให้สอดคล้องกับปัญหาและความต้องการของผู้ป่วย วิธีการศึกษา ใช้วิธีการสัมภาษณ์ผู้ป่วยโรคมะเร็งปากมดลูกที่อยู่ในระหว่างการบำบัดรักษาในโรงพยาบาล 3 แห่ง ที่ศึกษาในช่วงระยะเวลา 1 เดือน โดยได้จำนวนผู้ป่วยทั้งสิ้น 100 คน และได้แบบสอบถามที่ได้จากแพทย์ และนักสังคมสงเคราะห์ที่มีประสบการณ์ในการรักษาและช่วยเหลือผู้ป่วยโรคนี้โดยได้แพทย์ทั้งหมด 25 คน นักสังคมสงเคราะห์ 6 คน การวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับภูมิหลังของผู้ป่วย ความต้องการในการแก้ปัญหาของผู้ป่วย ข้อมูลจากแพทย์ และนักสังคมสงเคราะห์ ใช้คิดค่าร้อยละ เกี่ยวกับปัญหาทางด้านจิตใจและสังคมของผู้ป่วยใช้คิดค่าเฉลี่ย ผลการศึกษาครั้งนี้พอสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้ 1. ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่เคยทราบเรื่องราวเกี่ยวกับโรคมะเร็งปากมดลูก และวิธีการรักษาโรคนี้มาก่อน และส่วนใหญ่เคยไปรักษาตัวที่อื่น ๆ ก่อนมารักษาที่โรงพยาบาลทั้ง 3 แห่งที่ศึกษา ซึ่งในจำนวนนี้ส่วนใหญ่เคยไปรักษาด้วยวิธีที่ไม่ถูกต้อง เช่น ไปรักษาด้วยการกินยาหม้อ หรือ ซื้อยามากินเองตามร้านขายยา เป็นต้น 2. ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีความวิตกกังวล กลัว และเศร้าเสียใจต่อการเป็นโรคนี้ และต่อการเปลี่ยนแปลงในวิถีของตนเองอยู่ในเกณฑ์มาก 3. ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีความเห็นว่าการเป็นโรคนี้มีผลกระทบกระเทือนต่อภาวะทางสังคมของตนและครอบครัวอยู่ในเกณฑ์ปานกลาง 4. ผู้ป่วยจำนวนเกือบครึ่งหนึ่งของกลุ่มตัวอย่างไม่ทราบว่ามีบริการสังคมสงเคราะห์ในโรงพยาบาล 5. ผู้ป่วยส่วนใหญ่ต้องการให้โรงพยาบาลให้ความรู้ทางสุขศึกษาเกี่ยวกับโรคที่ตนเองเป็นแก่ตน 6. นักสังคมสงเคราะห์ส่วนใหญ่เห็นว่าการดำเนินงานของหน่วยสังคมสงเคราะห์ในโรงพยาบาลของตนเกี่ยวกับการช่วยเหลือผู้ป่วยเหล่านี้ยังไม่ประสบความสำเร็จ ทั้งนี้เพราะมีผู้ป่วยมากเกินไป ช่วยได้แต่ปัญหาเฉพาะหน้าและไม่มีการติดตามผลอย่างเต็มที่ 7. แพทย์ส่วนใหญ่เห็นว่าการให้ความช่วยเหลือ บำบัดรักษา และให้บริการแก่ผู้ป่วยเหล่านี้ในโรงพยาบาลของตนยังทำได้เพียงปานกลาง เพราะไม่มีทุนพอ การบริการไม่ทั่วถึง ขาดบุคลากร และอุปกรณ์ทางการแพทย์ เป็นต้น ข้อเสนอแนะ 1. ควรมีการประชาสัมพันธ์เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับโรคมะเร็งปากมดลูกให้มากขึ้น 2. รัฐบาลควรเพิ่มงบประมาณในการป้องกัน แก้ไข และบำบัดรักษาเกี่ยวกับโรคนี้ 3. โรงพยาบาลควรให้ความรู้ด้านสุขศึกษาเกี่ยวกับโรคที่ผู้ป่วยเป็น 4. ควรมีคลินิกที่จะให้การบำบัดรักษาและช่วยเหลือทางจิตใจแก่ผู้ป่วยโรคมะเร็งโดยเฉพาะ 5. ควรมีการปรับปรุงสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ในโรงพยาบาลให้ดีขึ้น 6. ควรมีสถานที่สำหรับให้ผู้ป่วยได้พักอาศัยในระหว่างการบำบัดรักษา 7. บุคลากรทางการแพทย์ทุกฝ่ายร่วมมือในการช่วยเหลือผู้ป่วยมะเร็งให้มากขึ้น 8. ควรส่งเสริมการศึกษาวิจัย ดูงาน และการอบรมเกี่ยวกับโรคมะเร็ง 9. การรักษาผู้ป่วย แพทย์ควรคำนึงถึงร่างกาย จิตใจ และสังคมของผู้ป่วยไปพร้อม ๆ กัน 10. ควรขยายบริการสังคมสงเคราะห์ให้มากขึ้น 11. เกี่ยวกับบทบาทของนักสังคมสงเคราะห์ที่มีต่อผู้ป่วยโรคมะเร็ง 11.1 นักสังคมสงเคราะห์ควรเพิ่มพูนความรู้เกี่ยวกับโรคนี้และความรู้ทางสังคมสงเคราะห์ให้มากขึ้น 11.2 นักสังคมสงเคราะห์ควรคำนึงถึงผู้ป่วยพร้อม ๆ ไปกับครอบครัวผู้ป่วย 11.3 นักสังคมสงเคราะห์ ควรเป็นตัวกลางระหว่างผู้ป่วย ญาติผู้ป่วย และแพทย์ 11.4 นักสังคมสงเคราะห์ควรช่วยแพทย์ในการติดตามผลการรักษาผู้ป่วยให้มากขึ้น 11.5 นักสังคมสงเคราะห์ควรมีส่วนร่วมในการวิจัยและเสนอความคิดเห็นในด้านการบริหารเพื่อประโยชน์ต่อการช่วยเหลือผู้ป่วยมะเร็งให้มากขึ้น 11.6 นักสังคมสงเคราะห์ควรมีบทบาทในการออกไปสู่ชุมชนให้มากขึ้น

Keywords: psychiatry, psychology, social, social worker, stress, เครียด, ความเครียด, จิตเวช, จิตเวชศาสตร์, จิตวิทยา, สังคม, สังคมสงเคราะห์

ปีที่เผยแพร่/Year: 2523

Address: คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทบวงมหาวิทยาลัย

Code: 372230000029

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: นิพนธ์ต้นฉบับ

Download: -