ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: นวรัตน์ สุวรรณผ่อง

ชื่อเรื่อง/Title: การศึกษาบทบาทของพระสงฆ์ไทยกับงานสังคมสงเคราะห์จิตเวช ศึกษาเฉพาะกรณีที่มีสำนักสงฆ์-วิปัสสนากรรมฐานในเขตกรุงเทพมหานคร

แหล่งที่มา/Source: เอกสารการวิจัยเรื่อง การศึกษาบทบาทของพระสงฆ์ไทยกับงานสังคมสงเคราะห์จิตเวช ศึกษาเฉพาะกรณีวัดที่มีสำนักสมถวิปัสสนากรรมฐานในเขตกรุงเทพมหานคร , พ.ศ. 2523

รายละเอียด / Details:

วัตถุประสงค์ของการศึกษา มุ่งศึกษาถึงบทบาทของพระสงฆ์ไทยต่องานสังคมสงเคราะห์จิตเวช โดยพิจารณาบทบาทในการให้คำแนะนำปรึกษาปัญหาทางด้านจิตใจ บทบาทในการรดน้ำมนต์ ให้วัตถุมงคลอันเป็นเรื่องเกี่ยวกับขวัญและกำลังใจ บทบาทในการสอนปฏิบัติสมถวิปัสสนากรรมฐาน เพื่อความสุขสงบทางด้านจิตใจ บทบาทในการให้ที่อยู่อาศัยแก่คนไร้ที่พึ่ง ผู้ป่วยเจ็บซึ่งทำให้เกิดที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจ และบทบาทในการส่งเสริมจริยธรรมและพัฒนาทางด้านจิตใจ นอกจากมุ่งศึกษาถึงบทบาทของพระสงฆ์ไทยต่องานสังคมสงเคราะห์จิตเวชแล้ว ยังมีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการทราบวิธีการ และแผนการในการแนะนำช่วยเหลือของพระสงฆ์ ต่อผู้ที่มีปัญหาที่มาของคำปรึกษาช่วยเหลือเพื่อต้องการทราบถึงปัญหา อุปสรรคของพระสงฆ์ไทยในการให้บริการให้คำปรึกษา ช่วยเหลือประชาชน ตลอดจนความคิดเห็นของพระสงฆ์ต่องานสังคมสงเคราะห์จิตเวช เพื่อเป็นแนวทางในการกำหนดงาน และหน้าที่ของนักสังคมสงเคราะห์จิตเวชเพิ่มขึ้น วิธีการศึกษา ประชากรที่ศึกษาเป็นพระภิกษุสงฆ์จากวัดที่มีสำนัดสมถวิปัสสนากรรมฐานในกรุงเทพมหานครที่ได้รับการสุ่มตัวอย่างแล้ว 3 วัด คือ วัดสระเกศ วัดเพลงวิปัสสนา วัดปากน้ำภาษีเจริญ จำนวนประชากร 118 รูป วิธีการศึกษาใช้ทั้งวิจัยเอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษในอดีตและปัจจุบัน และปรึกษาพระสงฆ์ผู้ทรงคุณวุฒิส่วนการวิจัยสนามใช้แบบสอบถามที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นเอง และนำมาทดสอบหาความเที่ยงได้ 0.776 ผลการศึกษา พบว่าพระสงฆ์กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่อายุระหว่าง 20-25 ปี ร้อยละ 47.46 บวชนาน 5 พรรษาขึ้นไป ร้อยละ 65.25 ภูมิลำเนาเดิมอยู่ต่างจังหวัด ร้อยละ 89.83 อาชีพของบิดามารดา และอาชีพของพระสงฆ์กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีอาชีพกสิกรรม รายได้ของครอบครัวอยู่ระดับต่ำ พระสงฆ์กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ไม่เคยสมรสก่อนบวช แต่เคยบวชเณรก่อนบวชเป็นพระภิกษุ เหตุผลในการบวชที่เลือกเป็นอันดับ 1 คือ บวชเพื่อจะได้มีโอกาสศึกษาต่อ การศึกษาก่อนบวชส่วนใหญ่จบชั้นประถมศึกษา ร้อยละ 77.97 การศึกษาทางธรรมจบนักธรรมเอกมากที่สุด และพระสงฆ์ส่วนใหญ่มีความรู้ในเรื่องสังคมสงเคราะห์ในรูปแบบของการแจกวัตถุสิ่งของถึงร้อยละ 76.27 แต่มีความเข้าใจเกี่ยวกับผู้มีปัญหาทางจิต และงานสังคมสงเคราะห์จิตเวชถูกต้องเป็นส่วนใหญ่ บทบาทในการให้คำปรึกษาด้านจิตใจนั้น พระสงฆ์กลุ่มตัวอย่างเคยเป็นที่ปรึกษาปัญหาชีวิตต่าง ๆ แก่ประชาชนสูงถึงร้อยละ 88.14 บทบาทในการรดน้ำมนต์แจกวัตถุมงคลมีน้อย ร้อยละ 3.85 ในด้านการสอนการปฏิบัติสมถวิปัสสนากรรมฐาน เพื่อความสุขสงบทางด้านจิตใจนั้น ยังมีผู้ปฏิบัติหน้าที่นี้น้อย คือร้อยละ 38.46 เคยเป็นผู้ให้ที่อยู่อาศัยแก่คนไร้ที่พึ่ง ร้อยละ 26.04 รับอุปการะเด็กนักเรียนร้อยละ 38.54 ที่พระสงฆ์มีบทบาทมากที่สุดคือ บทบาทในการส่งเสริมจริยธรรม และพัฒนาทางด้านจิตใจ คือ เคยมีพระสงฆ์ที่เคยอบรมจริยธรรมแก่เยาวชนและประชาชนทั่วไป เพื่อเป็นการพัฒนาทางด้านจิตใจ ร้อยละ 62.5 และช่วยสอนหนังสืออบรมเยาวชนในวัยเรียน และตามโอกาสอันควร เพื่อเป็นการส่งเสริมจริยธรรมถึงร้อยละ 80.53 ส่วนในการปฏิบัติงานพระสงฆ์พบปัญหาอุปสรรคมากถึงร้อยละ 90.38 ปัญหาส่วนใหญ่ คือ ขาดแคลนทุนทรัพย์ในการช่วยเหลือประชาชนร้อยละ 78.72 วิธีการแก้ปัญหาคือ ประชาสัมพันธ์ให้มากขึ้นกว่าเดิม เพื่อให้ประชาชนเข้าใจและให้การสนับสนุนเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ พบว่าพระสงฆ์ส่วนใหญ่คิดว่ามีความสามารถ มีความพร้อมเหมาะสมที่จะช่วยเหลือประชาชนด้านปัญหาทางด้านจิตใจ และเห็นด้วยว่าควรมีบทบาทเพิ่มขึ้นในงานสังคมสงเคราะห์จิตเวชถึงร้อยละ 92.37 โดยใช้วิธีการพัฒนาจิตใจประชาชนด้วยหลักธรรม ร้อยละ 87.16 เพื่อเป็นการสนับสนุนบทบาทของพระสงฆ์ในงานสังคมสงเคราะห์จิตเวช นักสังคมสงเคราะห์จิตเวช นักสังคมสงเคราะห์จิตเวชจึงควรมีบทบาทในการศึกษาของพระสงฆ์ โดยส่งเสริมความรู้ในเรื่องของงานสุขภาพจิตและจิตเวชให้แก่พระสงฆ์ ด้วยการสอดแทรกในหลักสูตรการเรียนของพระสงฆ์ และเปิดอบรมทั่วไป อาจจัดให้มีการสัมมนาร่วมกันโดยผ่านทางกรมศาสนา เพื่อวางแผนที่เหมาะสมที่จะจัดการศึกษาของพระสงฆ์ หรือการอบรมที่เกี่ยวกับงานด้านสังคมสงเคราะห์จิตเวช โดยประยุกต์วิชาการสมัยใหม่กับหลักธรรม ในส่วนที่สอดคล้องกับสภาวะของสังคม และควรที่จะให้พระสงฆ์ได้มีความรู้ในเรื่องของการสร้างความสัมพันธ์กับบุคคลอื่น ความรู้ในสาเหตุของปัญหาจิตใจ สภาวะแวดล้อมที่มีอิทธิพลต่อจิตใจของประชาชน ทรัพยากรในสังคมได้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และกลวิธีในการช่วยเหลือประชาชน โดยประยุกต์เข้ากับหลักธรรมให้ประชาชนรู้จักพึ่งตนเอง ในระดับบริหาร ควรมีการติดต่อกับมหาเถระสมาคมเพื่อขอความตกลงเห็นชอบ เพื่อให้ได้รับการสนับสนุนต่อไป โดยควรเปิดโอกาสให้มีการสัมมนาหาแนวทางในการดำเนินนโยบาย แผนงาน และความมุ่งหมายให้สอดคล้องกับสภาพที่เกิดขึ้นจริงในสังคม นอกจากนี้ นักสังคมสงเคราะห์จิตเวชต้องทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมโยงระหว่างสถาบันสงฆ์กับองค์การต่าง ๆ และเป็นผู้ให้กำลังใจ ผู้กระตุ้นเตือน ผู้สนับสนุน เพื่อผลักดันให้สถาบันสงฆ์สามารถให้การช่วยเหลือประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่ว่าจะเป็นในระดับบุคคล กลุ่ม หรือชุมชนก็ตาม

Keywords: psychiatry, social, social worker, จิตเวช, จิตเวชศาสตร์, นักสังคมสงเคราะห์, พระ, พระสงฆ์, พุทธศาสนา, ศาสนา, ศาสนาพุทธ, สังคม, สังคมสงเคราะห์

ปีที่เผยแพร่/Year: 2523

Address: คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทบวงมหาวิทยาลัย

Code: 372230000030

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: นิพนธ์ต้นฉบับ

Download: -